เผลอเรอ ชำระขากเล้กน้อยในงวดสุดท้าย ถือเป็นการผิดหรือไม่

เผลอเรอ ชำระขากเล้กน้อยในงวดสุดท้าย ถือเป็นการผิดหรือไม่

คดีสืบเนื่องมาจาก โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันมีใจความสำคัญว่า จำเลยทั้งสองยินยอมร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,150,000 บาท โดยชำระงวดแรกในวันที่15 พฤษภาคม 2531 จำนวนเงิน 350,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละไม่ตำกว่า 160,000 บาท เริ่มเดือนแรกวันที่15 มิถุนายน 2531 และทุกวันที่ 15 ของเดือนจนกว่าจะครบทั้งนี้จำเลยทั้งสองจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 เมษายน 2532หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดหมดทุกงวด และยอมให้โจทก์บังคับคดีได้เต็มตามฟ้องเป็นเงินจำนวน 3,262,293 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 2,851,178.70 บาทนับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ให้หักเงินที่ได้ชำระแล้วออกจากยอดเงินดังกล่าวศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ต่อมาเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2532 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเงินจำนวน 2,150,000 บาท แก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ปรากฎว่าจำเลยทั้งสองชำระเงินไม่ครบ โดยขาดอยู่อีก 40,000 บาท โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2532 เพื่อให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน1,152,293 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน2,851,178.70 บาท นับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ครั้นวันที่ 15มิถุนายน 2532 จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า แม้ปรากฎว่าเงินขาดจำนวน 40,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองมิได้จงใจทำผิดสัญญาหากแต่เข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้จัดการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ถูกต้องครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 ซึ่งมากกว่าที่ตกลงกันไว้เป็นเงินจำนวน 1,112,293 บาท จึงขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์และให้ศาลชั้นต้นรับเงินจำนวน40,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองได้นำมาวางต่อศาล โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า คำร้องของจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะขอให้ศาลเพิกถอนการยึดทรัพย์และให้โจทก์รับเงินจำนวน 40,000 บาท

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีของโจทก์ให้โจทก์รับเงินจำนวน 40,000 บาท ไป แต่การที่จำเลยทั้งสองชำระเงินให้โจทก์ล่าช้าทำให้โจทก์ได้รบความเสียหาย จึงให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน40,000 บาท นับแต่วันที่ 15 เมษายน 2532 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น

โจทก์ อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

โจทก์ ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ และโจทก์จะบังคับคดีได้หรือไม่เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่คู่ความได้ทำไว้ต่อศาลชั้นต้นนั้น ในข้อ 1 มีข้อความความว่าจำเลยทั้งสองยอมร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,150,000 บาท ให้แก่โจทก์ โดยชำระงวดแรกวันที่ 15พฤษภาคม 2531 เป็นเงิน 350,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นรายเดือน ๆ ละ ไม่ต่ำกว่า 160,000 บาท เริ่มเดือนแรกวันที่ 15มิถุนายน 2531 และทุก ๆ วันที่ 15 ของเดือนจนกว่าจะครบทั้งนี้จำเลยทั้งสองจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 เมษายน 2532 ปรากฎว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระเงินให้โจทก์เป็นงวด ๆ ตลอดมารวม 12 งวด โดยวางต่อศาลชั้นต้น สำหรับงวดสุดท้ายชำระวันที่ 14 เมษายน 2532 เป็นเงิน160,000 บาท เท่ากับงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 11 ซึ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 12 เป็นเงินไม่ต่ำกว่างวดละ 160,000 บาท ปรากฎว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระเงินงวดที่ 12 อันเป็นงวดสุดท้ายภายในเวลาที่กำหนดไว้ จำเลยทั้งสองหาได้ผิดนัดในการชำระหนี้ไม่ เพียงแต่ชำระหนี้ให้ไม่ครบเท่านั้นเมื่อคำนึงถึงว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาตามยอมถึง 2,150,000 บาท ได้ชำระให้โจทก์ตั้งแต่งวดแรกจนถึงงวดสุดท้ายติดต่อกันมา เพียงแต่งวดสุดท้ายชำระขาดไป 40,000 บาทเมื่อเทียบกับจำนวนหนี้ที่มีอยู่ถึง 2,150,000 บาท นับว่าเป็นส่วนน้อยมาก การที่จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์งวดสุดท้ายไปไม่ครบนั้น น่าจะเป็นเพราะความเผอเรอที่เข้าใจว่าคงต้องชำระเท่ากับงวดก่อน ๆ คือ 160,000 บาท เท่ากัน ถึงอย่างไรก็ตามพอจำเลยทั้งสองทราบว่ายังชำระหนี้ให้โจทก์ไม่ครบก็ได้นำเงินจำนวน 40,000 บาทมาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้โจทก์รับไปทันที ย่อมส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาที่จะบิดพลิ้วในการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แม้การที่จำเลยทั้งสองชำระหนี้งวดสุดท้ายไม่ครบ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ได้แต่ปรากฎว่าเมื่อจำเลยทั้งสองนำเงินจำนวน160,000 บาท มาวางต่อศาลโจทก์ก็ได้ขอรับเงินจำนวนนี้ไปโดยมิได้อิดเอื้อนแต่อย่างใด และต่อมาจำเลยทั้งสองก็ได้นำเงินที่ยังขาดอยู่40,000 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยมาวางต่อศาลเพื่อให้โจทก์รับไปแล้วดังนั้น โจทก์จะขอให้บังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองตามที่โจทก์ร้องขอมาหาได้ไม่

พิพากษายืน