หลักการยกข้อต่อสู้คดีก่อสร้าง

หลักการยกข้อต่อสู้คดีก่อสร้าง

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2537 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ทั้งสองปลูกสร้างอาคารพักอาศัย 1 หลัง พร้อมก่อสร้างระบบประปา สุขาภิบาล บ่อบาดาล ถังเก็บน้ำใต้ดิน ในที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นค่าจ้างแรงงาน 1,606,000 บาท ค่าสัมภาระวัสดุก่อสร้าง 5,716,000 บาท รวมเป็นเงิน7,322,000 บาท ตกลงชำระค่าจ้างเป็นงวด เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2537กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2538 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังจ้างโจทก์ทั้งสองทำงานเพิ่มเติมอีก 13 รายการ เป็นเงิน 1,098,931.38 บาท ต่อมาโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีก 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 12มิถุนายน 2538 และยกเลิกระบบงานไฟฟ้าทั้งหมดเป็นเงิน 325,000 บาท คงเหลือค่าจ้าง 6,997,000 บาท กับเงินค่าจ้างงานเพิ่มเติมดังกล่าว โจทก์ทั้งสองได้ทำงานตามสัญญาเสร็จเรียบร้อยแต่จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าจ้างงวดที่ 6 เป็นเงิน 820,000 บาทงวดที่ 8 บางส่วน เป็นเงิน 567,000 บาท และค่าจ้างงานเพิ่มเติม 1,098,931.38 บาทรวมเป็นเงิน 2,485,931.38 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน2,485,931.38 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2538 ซึ่งเป็นวันส่งมอบงานงวดสุดท้ายเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ทั้งสองให้ทำการก่อสร้างอาคารเป็นเงิน 7,322,000 บาท แต่ไม่เคยว่าจ้างให้ก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นเงิน1,098,931.38 บาท เมื่อครบกำหนดตามสัญญา โจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองตกลงขยายเวลาก่อสร้างอีก 60 วัน หากก่อสร้างไม่เสร็จยอมให้ปรับวันละ 20,000 บาทครบกำหนดเวลาที่ขยายแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่สามารถก่อสร้างเสร็จตามที่ตกลงไว้ ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าจ้างงวดที่ 7 และที่ 8 จากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 125,000 บาทคงค้างชำระแก่โจทก์ทั้งสองอีก 1,387,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่บกพร่องของอาคาร แต่โจทก์ทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงจ้างบุคคลอื่นก่อสร้างและซ่อมแซมจนแล้ว โจทก์ทั้งสองต้องชำระค่าปรับให้แก่จำเลยทั้งสองวันละ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสองรับเงินค่าจ้างที่เหลือหลังจากหักค่าปรับแล้วเป็นเงิน 237,000 บาท แต่โจทก์ทั้งสองไม่ชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 220,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงิน 600,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน958,931.38 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน220,000 บาท, 600,000 บาท และ 958,931.38 บาท นับแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2540ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะฟ้องขอให้ชำระค่าจ้างก่อสร้างงวดที่ 8 เป็นคดีใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน1,295,403.62 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่างวดที่ 8 ใหม่ ภายในกำหนดอายุความ

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อเดือนตุลาคม2537 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ทั้งสองก่อสร้างอาคารห้าชั้น 1 หลังในที่ดินของจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 18373 ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงรายราคาค่าก่อสร้าง 7,322,000 บาท แยกเป็นค่าจ้างเหมาแรงงานของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน1,606,000 บาท ค่าจัดหาวัสดุก่อสร้างของโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 5,716,000 บาท เริ่มลงมือก่อสร้างวันที่ 1 ตุลาคม 2537 กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2538 แบ่งชำระค่าก่อสร้างเป็นเงิน 8 งวด ตามหนังสือสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ต่อมาโจทก์ทั้งสองก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ในวันที่ 12 มิถุนายน 2538 มีการตกลงให้ขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีก 60 วัน หากยังสร้างไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาที่ขยายแล้ว โจทก์ทั้งสองยอมเสียค่าปรับแก่จำเลยที่ 1 ในอัตราวันละ 20,000 บาทและตกลงยกเลิกงานระบบไฟฟ้าทั้งหมดซึ่งคิดเป็นเงิน 325,000 บาท คงเหลือค่าจ้างก่อสร้างเป็นเงิน 6,997,000 บาท เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2538 โจทก์ทั้งสองมีหนังสือขอส่งมอบงานงวดที่ 6 ถึงงวดที่ 8 รวมทั้งงานที่อ้างว่าเป็นการก่อสร้างเพิ่มเติมแก่จำเลยที่ 1แต่จำเลยที่ 1 ได้ตรวจรับมอบงานทั้งหมดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2538 และจำเลยที่ 1ยังค้างชำระค่าจ้างงวดที่ 6 ทั้งหมด กับงวดที่ 8 บางส่วน สำหรับการก่อสร้าง 13 รายการคิดเป็นเงิน 1,098,931.38 บาท ตามรายการสรุปงานเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.7 นั้นโจทก์ทั้งสองได้ก่อสร้างแล้วทั้งหมด โดยรายการที่ 1, 2, 7, 8, 9, 10 และ 13 คิดเป็นเงิน915,403.62 บาท เป็นรายการก่อสร้างเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาจ้างเอกสารหมายจ.4 และ จ.5 ซึ่งยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 เนื่องจากจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกา

พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองเป็นข้อแรกว่า การก่อสร้างตามรายการสรุปงานเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.7 รายการที่ 3, 4, 5, 6, 11 และ 12 คิดเป็นเงิน 383,527.76 บาท เป็นรายการก่อสร้างเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระให้โจทก์ทั้งสองด้วยหรือไม่ในปัญหาข้อนี้เห็นว่า การก่อสร้างทั้ง 6 รายการตามฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นรายการที่ตรงตามเอกสารหมายเลข 1 แนบท้ายหนังสือสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.5 แต่อย่างใดเมื่อมีการตรวจรับงานก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ทักท้วงว่าการก่อสร้างเหล่านี้ไม่ตรงตามสัญญา จำเลยทั้งสองคงให้การและนำสืบปฏิเสธว่าการก่อสร้างตามรายการสรุปงานเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.7 เป็นการก่อสร้างตามสัญญาเท่านั้น เห็นได้ว่าไม่มีผู้รับจ้างรายใดจะเปลี่ยนแปลงวัสดุและเพิ่มเติมการก่อสร้างให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้างโดยตนเองรับผิดชอบในราคาส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นเงินเรือนแสนบาทเช่นนี้ เชื่อได้ว่า การก่อสร้างทั้ง 6รายการดังกล่าวเป็นรายการก่อสร้างเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4และ จ.5 ซึ่งจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้โจทก์ทั้งสองดำเนินการไปเช่นเดียวกับรายการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 7 รายการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองรับผิดเช่นเดียวกันจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระราคาค่าก่อสร้างเพิ่มเติมทั้ง 6 รายการนี้ซึ่งคิดเป็นเงิน383,527.76 บาท แก่โจทก์ทั้งสองด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น

ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์ทั้งสองส่งมอบงานล่าช้าไปเพียง 7 วัน ซึ่งต้องเสียค่าปรับ 140,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่ส่งมอบงานล่าไปถึง12 วัน ซึ่งต้องเสียค่าปรับ 240,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 นั้น เห็นว่าตามหนังสือสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.5 มีความว่า “เมื่อผู้รับจ้างได้ทำการแล้วเสร็จตามงวดงาน ผู้รับจ้างจะมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าจ้างให้ทราบ แล้วให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนไปตรวจรับงานในงวดนั้น ๆ ภายในกำหนดเวลา 5 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากผู้รับจ้าง หากผู้ว่าจ้างไม่ทำการตรวจรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าว หรือไม่ยอมรับงานโดยไม่แจ้งให้ผู้รับจ้างทราบเกินกว่ากำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าผู้ว่าจ้างได้ตกลงรับมอบงานไว้ครบถ้วนถูกต้องตามงวดงานนั้น ๆ ว่าเรียบร้อยแล้วทุกประการ…” ดังนี้การที่โจทก์ทั้งสองจะมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบเพื่อตรวจรับงานนั้น โจทก์ทั้งสองจะต้องทำการก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนด้วย มิใช่ว่าเมื่อโจทก์ทั้งสองมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ตรวจรับงานโดยที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 ไม่ตรวจรับงานภายใน 5 วันจะถือว่าตรวจรับงานไว้ครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาจ้างได้ ปรากฏว่าในหนังสือขอส่งงานงวดที่ 6, 7 และ 8 (งวดสุดท้าย) ของโจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.11 ก็มีข้อความยอมรับว่าการก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดและตามบันทึกการรับมอบงานเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งแสดงว่ามีการรับมอบงานกันในวันที่ 30 กันยายน 2538ก็ปรากฏว่ายังมีจุดที่ต้องแก้ไขอีกหลายจุด และมีข้อความรับกันว่ามีค่าปรับเนื่องจากการส่งมอบงานล่าช้าซึ่งจะต้องตกลงกันและจะหักจากเงินค่าจ้างงวดที่ 6 และงวดที่ 8แสดงให้เห็นว่าแม้ในวันที่ 30 กันยายน 2538 ซึ่งเป็นวันรับมอบงานกันภายหลังจากที่โจทก์ทั้งสองมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.11 ถึงจำเลยที่ 1 นานถึง 1 เดือนเศษ การก่อสร้างก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อยจนยอมรับกันว่าต้องมีค่าปรับเนื่องจากการส่งมอบงานล่าช้าที่นายสมเกียรติ จันทวี หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.11 ถึงจำเลยที่ 1 จึงไม่น่าเชื่อถือข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองก่อสร้างอาคารตามสัญญาแล้วเสร็จเมื่อส่งมอบงานในวันที่ 30 กันยายน 2538 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองทำการก่อสร้างล่าช้าไป 12 วัน คิดเป็นค่าปรับ 240,000 บาท และจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาจึงนับว่าเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองอยู่แล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น

ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาข้อสุดท้ายว่า สำหรับเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 8 ขอให้โจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นคดีใหม่ภายในกำหนดอายุความตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าก่อสร้างงวดที่ 8บางส่วน โจทก์ทั้งสองมิได้นำสืบให้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คนละเท่าใด จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะฟ้องบังคับตามคำขอดังกล่าวภายในกำหนดอายุความ ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ทั้งสองนำสืบได้ไม่สมฟ้อง ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกคำขอส่วนนี้เสียทั้งหมด เพราะสามารถที่จะวินิจฉัยให้คดีนี้ได้อยู่แล้ว การที่ศาลชั้นต้นให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองฟ้องใหม่ในประเด็นนี้อีกจึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ทั้งสองเองก็อ้างในฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองนำสืบไว้แล้วว่าจำเลยทั้งสองค้างชำระเงินงวดที่ 8 แก่โจทก์ทั้งสองอยู่ 567,000 บาท โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ แต่เลือกที่จะฟ้องคดีใหม่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ให้สิทธิในการฟ้องคดีใหม่แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจะขอให้ศาลฎีกากลับให้สิทธิดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าเป็นการไม่ชอบหาได้ไม่ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,678,931.38 บาทแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

สรุป

หนังสือสัญญาจ้างมีข้อความว่า “เมื่อผู้รับจ้างได้ทำการแล้วเสร็จตามงวดงานผู้รับจ้างจะมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าจ้างให้ทราบแล้วให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนไปตรวจรับงานในงวดนั้น ๆ ภายในกำหนดเวลา 5 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากผู้รับจ้างหากผู้ว่าจ้างไม่ทำการตรวจรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าวหรือไม่ยอมรับงานโดยไม่แจ้งให้ผู้รับจ้างทราบเกินกว่ากำหนด ให้ถือว่าผู้ว่าจ้างได้ตกลงรับมอบงานไว้ครบถ้วนถูกต้องตามงวดงานนั้น ๆ ว่าเรียบร้อยแล้วทุกประการ” การที่โจทก์จะมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1ทราบเพื่อตรวจรับงานตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จะต้องทำการก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนด้วย มิใช่ว่าเมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ตรวจรับงานโดยที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จจำเลยที่ 1 ไม่ตรวจรับงานภายใน 5 วัน จะถือว่าตรวจรับงานไว้ครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาจ้างได้

การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าก่อสร้างงวดที่ 8 บางส่วน โจทก์ทั้งสองมิได้นำสืบให้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คนละเท่าใด จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องบังคับตามคำขอดังกล่าวภายในกำหนดอายุความ นั้น เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ทั้งสองนำสืบได้ไม่สมฟ้อง ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกคำขอส่วนนี้เสียทั้งหมดเพราะสามารถที่จะวินิจฉัยให้คดีนี้ได้อยู่แล้ว การที่ศาลชั้นต้นให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองฟ้องใหม่ในประเด็นนี้อีกจึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ทั้งสองชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์แต่เลือกที่จะฟ้องคดีใหม่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์ไม่ให้สิทธิในการฟ้องคดีใหม่ โจทก์ทั้งสองจะขอให้ศาลฎีกากลับให้สิทธิดังกล่าวซึ่งเป็นการไม่ชอบหาได้ไม่