หนังสือรับสภาพหนี้ค่าก่อสร้างที่ขาดอายุความแล้ว ฟ้องได้หรือไม่

หนังสือรับสภาพหนี้ค่าก่อสร้างที่ขาดอายุความแล้ว ฟ้องได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ปลูกสร้างอาคารแบบต่าง ๆ จำนวนหลายหลังต่อมาโจทก์และจำเลยเลิกสัญญาต่อกัน ก่อนเลิกสัญญาโจทก์ก่อสร้างอาคารไปบ้างแล้วและจำเลยค้างชำระค่าจ้างซึ่งจ่ายตามผลสำเร็จของงานเป็นเงินจำนวน 1,540,200 บาทวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 จำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างที่ค้างแก่โจทก์จำนวน 514,496 บาท โดยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ แต่จำเลยชำระให้แก่โจทก์เพียง 100,000 บาท ยังคงค้างชำระอยู่จำนวน 414,496 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยตามกฎหมายในเงินที่ค้างชำระจำนวน 46,630 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง 30,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 444,496 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 414,496 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายชัดแจ้งว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ปลูกสร้างบ้านเมื่อไร จำนวนกี่หลัง ราคาค่าจ้างหลังละเท่าไร มีข้อตกลงจ่ายค่าจ้างกันอย่างไรโจทก์ทำการก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จเพียงใด โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างเมื่อไร จำนวนเงินเท่าใด และจำเลยผิดนัดชำระค่าจ้างอย่างไร เมื่อไร จำนวนเท่าใดฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมจำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างบ้าน 8 หลังกำหนดเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 200 วัน ตกลงจ่ายค่าจ้างตามผลสำเร็จของงานรวม 9 งวด และจำเลยได้จ่ายค่าจ้างแต่ละงวดตามสัญญาเรื่อยมา เมื่อครบกำหนดตามสัญญา โจทก์ยังก่อสร้างบ้านทั้ง 8 หลัง ไม่แล้วเสร็จ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิรับเงินค่าจ้างในงวดที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จและจำเลยได้คิดเอาค่าปรับตามสัญญากรณีที่โจทก์ทำงานล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาเรื่อยมาต่อมากลางปี 2538 โจทก์ละทิ้งงานทั้งหมด จำเลยจึงว่าจ้างให้บุคคลอื่นก่อสร้างแทนโจทก์และจำเลยได้จ่ายค่าจ้างเกินกว่าราคาค่าจ้างโจทก์เป็นเงินจำนวนมาก วันที่ 7 พฤศจิกายน2540 จำเลยได้ทำหนังสือรับรองมูลค่างานก่อสร้างที่โจทก์ได้ก่อสร้างบ้านและจำเลยยังไม่ได้ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ทราบ หนังสือดังกล่าวไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้และมิได้มีการตกลงจ่ายเงินกัน การที่มีการจ่ายเงินกันหลังจากวันทำหนังสือดังกล่าว 3 ครั้ง เป็นการจ่ายเงินสำรองให้แก่โจทก์ไปก่อนเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการชำระหนี้ค่าจ้าง อีกทั้งเมื่อคิดค่าปรับที่โจทก์ก่อสร้างล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามสัญญาและค่าจ้างที่จำเลยต้องจ้างบุคคลอื่นมาก่อสร้างแทนโจทก์ซึ่งมีจำนวนมากกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ประกอบการค้ารับเหมาก่อสร้าง แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกเอาค่าของและค่าการก่อสร้างภายใน 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างส่วนหนังสือรับสภาพหนี้และการชำระหนี้บางส่วนจำนวน 3 ครั้ง เป็นการกระทำภายหลังที่หนี้ของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 414,496 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกินจำนวน 30,000 บาทตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2537 จำเลยว่าจ้างโจทก์ปลูกสร้างอาคารจำนวน 8 หลัง ตามสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างอาคารเอกสารหมาย ล.1 โจทก์ทำงานไปบางส่วน แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ก็มีการบอกเลิกสัญญาต่อกัน จำเลยจะต้องชำระค่างวดงานแก่โจทก์ในวันที่ 8 ตุลาคม 2538 แต่จำเลยมิได้ชำระจนกระทั่งหนี้ค่าจ้างก่อสร้างดังกล่าวขาดอายุความ ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540จำเลยทำหนังสือรับรองมูลค่างานก่อสร้าง ตามเอกสารหมาย จ.1 หลังจากนั้นจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 100,000 บาท ตามใบสำคัญจ่ายเงินเอกสารหมาย จ.3 จ.7 และ จ.8 แล้วไม่ชำระอีกเลย โจทก์เคยมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.4 ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วตามใบตอบรับเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความและจำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่าโจทก์ยอมรับว่าหนี้ค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างอาคารเอกสารหมาย ล.1 นั้น ขาดอายุความแล้ว แต่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 รับที่จะชดใช้เงินจำนวน 514,496 บาท ให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้รับชำระบางส่วนจำนวนเงิน 100,000 บาท แล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินจำนวนที่ค้างอยู่อีก 414,496 บาท ให้แก่โจทก์ ดังนี้จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระเงินตามเอกสารหมาย จ.1 เมื่อได้พิจารณาหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 จะเห็นได้ว่าแม้จำเลยจะพิมพ์หัวเรื่องว่าเป็นเรื่องรับรองมูลค่างานก่อสร้าง แต่เมื่ออ่านข้อความในเอกสารดังกล่าวโดยตลอดแล้วจะได้ใจความว่างานก่อสร้างที่โจทก์จำเลยทำสัญญากันตามสภาพไม่สามารถคืนหน้าไปได้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่งานก่อสร้างที่โจทก์ทำมาแล้วนั้นมีมูลค่างานที่ยังไม่ได้รับชำระจากจำเลย 7 รายการ เป็นเงินรวม 514,496 บาท หนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นหนังสือที่จำเลยทำให้แก่โจทก์เพื่อรับรองว่าจำเลยยังมีหนี้ค่าจ้างก่อสร้างค้างชำระแก่โจทก์อยู่ ประกอบกับเอกสารหมาย จ.1 ทำขึ้นหลังจากมูลหนี้ค่าจ้างก่อสร้างขาดอายุความไปแล้ว จึงไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความของมูลหนี้ค่าจ้างก่อสร้างสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) แต่มีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพความผิดที่จำเลยกระทำเป็นหลักฐานให้แก่โจทก์ ส่วนที่นายถาวร สุวรรณละออง กรรมการของจำเลยเบิกความว่าขณะทำเอกสารหมาย จ.1 จำเลยยังคำนวณค่าปรับที่โจทก์ก่อสร้างล่าช้าและค่าจ้างที่จำเลยต้องจ้างบุคคลอื่นมาก่อสร้างแทนโจทก์ไม่แล้วเสร็จซึ่งหนี้ดังกล่าวมีจำนวนมากกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้อง เอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้นั้นก็ขัดต่อเหตุผลเพราะหากจำเลยทราบอยู่แล้วว่า โจทก์มีหนี้ที่ต้องชำระแก่จำเลยจำนวนมากกว่าที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย จำเลยคงไม่ทำหนังสือรับรองว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 และหลังจากนั้นจำเลยยังชำระเงินให้แก่โจทก์อีก 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน100,000 บาท พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยรับฟังได้ว่า เอกสารหมาย จ.1 เป็นหนังสือรับสภาพความผิดที่จำเลยรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้โดยมีหลักฐานเป็นหนังสืออันก่อสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 ซึ่งบัญญัติให้มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิด จำเลยทำเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความจำเลยต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงินที่ค้างอยู่อีก 414,496 บาท ตามหนังสือและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เมื่อวันที่ 14มีนาคม 2541 ครบกำหนดชำระในวันที่ 14 เมษายน 2541 จำเลยไม่ชำระจึงย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนที่ค้างชำระดังกล่าวนับแต่วันดังกล่าวนั้นเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก่อนชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นอื่น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และเห็นว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานโจทก์และจำเลยมาจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวนนั้นได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก่อนจึงชอบแล้ว

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขึ้นต่อสู้ในคำให้การ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยไม่ได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ครั้นโจทก์อุทธรณ์ จำเลยก็ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขึ้นตั้งประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”