สัญญาจ้างเหมาช่วงมีเงื่อนไขบังคับก่อน มีได้หรือไม่

สัญญาจ้างเหมาช่วงมีเงื่อนไขบังคับก่อน มีได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 250,959,782 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงิน 48,997,081 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 29,241,383 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 พฤษภาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท ยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงิน 758,617 บาท แก่จำเลย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 17 กรกฎาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2560 จำเลยทำสัญญาเป็นผู้รับเหมาหลักงานก่อสร้างโครงการขยายอายุการใช้งานท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 1 Reroute Section (RC – 670) กับบริษัท ป. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการในการทำงานตามโครงการดังกล่าว จำเลยว่าจ้างโจทก์เป็นผู้รับเหมาช่วงในงานส่วนหนึ่งของสัญญา โดยเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เจาะดึงท่อก๊าซขนาด 18 นิ้ว ในส่วนสภาพใต้ดินเป็น Soil ของโครงการขยายอายุการใช้งานท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 1 ก่อนทำสัญญา เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 โจทก์จัดทำใบเสนอราคาส่งให้จำเลย โดยโจทก์และจำเลยตกลงให้นำใบเสนอราคาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาว่าจ้าง ภายหลังทำสัญญาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 โจทก์จัดส่งแผนการดำเนินงานและบริษัทงานออกแบบด้านวิศวกรรมให้แก่จำเลย และส่งใบวางบิลเรียกเก็บเงินงวดที่ 2 จากจำเลย และเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 โจทก์จัดส่งเครื่องจักรไปเพื่อใช้ในงานและส่งใบวางบิลเรียกเก็บเงินงวดที่ 3 จากจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระเงินให้โจทก์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561 จำเลยส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งยกเลิกสัญญาแก่โจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 จำเลยส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งยกเลิกสัญญาแก่โจทก์เป็นครั้งที่ 2 และต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2561 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้อีกฝ่ายหรือไม่ เพียงใด ก่อนที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์ทราบเงื่อนไขของสัญญาว่าจ้าง หรือไม่ว่า โจทก์จะเริ่มทำงานตามสัญญาจ้างเหมาช่วงได้ต่อเมื่อโจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำงานจากบริษัท ป. หรือที่ปรึกษาโครงการของบริษัท ป. และโจทก์ต้องผูกพันตามเงื่อนไขดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า โดยที่จำเลยเป็นคู่สัญญากับบริษัท ป. เจ้าของงานตามสัญญาหลัก และโจทก์ทราบและเข้าใจสัญญาหลักดีแล้ว และยินดีร่วมมือกับจำเลยในการทำงานให้บรรลุถึงจุดประสงค์ของสัญญาหลัก และจะรับผิดชอบต่อจำเลยตามที่จำเลยต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของงาน ในเมื่อมีการระบุไว้ในสัญญาว่าจ้างเช่นนี้ โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยจึงต้องทราบหรือให้จำเลยแจ้งให้ทราบเงื่อนไขในสัญญาหลักว่าเป็นอย่างใด เพื่อที่โจทก์จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องว่าจำเลยจะไม่นำงานทั้งหมดหรืองานบางส่วนไปจ้างเหมาช่วงโดยไม่ได้รับการยินยอมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของงานก่อน ซึ่งก่อนที่โจทก์และจำเลยจะทำสัญญากัน โจทก์ทำใบเสนอราคาซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาว่าจ้างว่า โจทก์จะนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์การเจาะดึงท่อและเริ่มงานก่อสร้างหลังจากจำเลยได้รับใบอนุญาตที่จำเป็นทั้งหมดแล้วและโจทก์ได้รับอนุญาตให้เริ่มงานก่อสร้าง ใบเสนอราคาดังกล่าวมีเงื่อนไขสอดคล้องกับสัญญาว่าจ้างและสัญญาหลัก นอกจากนี้ยังได้ความจากพยานจำเลยปากนายชัชวาลย์ ผู้รับมอบอำนาจจำเลยว่าโจทก์ทราบดีว่าผู้มีอำนาจตามสัญญาในการอนุมัติให้โจทก์เข้าทำงานตามสัญญาช่วงคือบริษัท ป. และที่ปรึกษาโครงการ โดยโจทก์ได้เคยพยายามร้องขอให้เจ้าของงานและที่ปรึกษาโครงการอนุมัติให้โจทก์เข้าทำงานตามสัญญา โจทก์ตกลงให้ถือว่าสัญญาหลักเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาว่าจ้าง ดังนี้ จากข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างและพฤติการณ์ของโจทก์ที่ทำใบเสนอราคา กับการที่โจทก์มีหนังสือถึงผู้บริหารของบริษัท ป. และพยานโจทก์ปากนายณพศักดิ์ ผู้บริหารของโจทก์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า การเริ่มงานนั้นจะต้องได้รับการอนุญาตจากที่ปรึกษา แสดงว่าโจทก์ทราบเงื่อนไขในสัญญาว่าจ้างว่า โจทก์จะเริ่มทำงานตามสัญญาจ้างเหมาช่วงได้ต่อเมื่อโจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำงานจากบริษัท ป. หรือที่ปรึกษาโครงการของบริษัท ป. คือบริษัท ท. ซึ่งเป็นที่รับรู้และเข้าใจตรงกันว่า การได้รับอนุมัติจากเจ้าของงานเป็นสาระสำคัญในการก่อความผูกพันแก่ทั้งสองฝ่าย จึงถือได้ว่าสัญญาว่าจ้างเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183 ซึ่งตามสัญญาว่าจ้างกำหนดว่า โจทก์ยินดีร่วมมือกับจำเลยในการทำงานให้บรรลุถึงจุดประสงค์ของสัญญาหลัก และจะรับผิดชอบต่อจำเลยตามที่จำเลยต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของงาน ซึ่งได้ความจากพยานจำเลยปากนายชัชวาลย์ว่า หลังจากโจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาช่วงกับจำเลยแล้ว โจทก์ได้นำเสนอแผนงาน รายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องจักรและรายละเอียดของบุคลากรมายังจำเลย โดยจำเลยได้รีบนำเสนอผ่านไปยังที่ปรึกษาโครงการเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 แต่เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ที่ปรึกษาโครงการซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาแทนเจ้าของงานได้มีหนังสือปฏิเสธไม่รับโจทก์ รวมทั้งบุคลากรของจำเลยด้วยเข้าทำงาน เนื่องจากยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานเจาะดึงท่อ ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2561 จำเลยได้นำเสนอรายละเอียดคุณสมบัติของทีมงานโจทก์ รวมถึงทีมงานของจำเลยไปยังที่ปรึกษาโครงการเพื่อพิจารณาขออนุมัติเป็นผู้รับเหมาช่วงในโครงการ แต่เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ที่ปรึกษาโครงการมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาโดยยังคงปฏิเสธไม่อนุญาตให้โจทก์เข้าเป็นผู้รับเหมาช่วงในโครงการ จำเลยพยายามแจ้งให้โจทก์นำส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขออนุมัติจากที่ปรึกษาโครงการในการเข้าทำงานอีกหลายครั้ง แต่โจทก์กลับเพิกเฉยละเลยไม่รีบดำเนินการนำเสนอแผนการก่อสร้างฉบับใหม่ที่สร้างความมั่นใจให้แก่ที่ปรึกษาโครงการรวมถึงเจ้าของงาน และปรับแก้รายละเอียดของบุคลากรและเครื่องจักรให้สอดคล้องกับระยะเวลาการทำงานตามสัญญาที่ลดน้อยลง ให้จำเลยเสนอแก่ที่ปรึกษาโครงการอีกครั้ง โดยโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยผิดสัญญา ไม่จัดให้มีการอบรมบุคลากรก่อนการทำงานให้โจทก์ ที่โจทก์ขอขยายระยะเวลาทำงานจากจำเลย จำเลยไม่สามารถพิจารณาให้ได้ เนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติให้เข้าทำงานตามสัญญาจากที่ปรึกษาของเจ้าของโครงการ จำเลยจึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ ส่วนโจทก์มีนายณพศักดิ์ผู้บริหารของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 จำเลยได้เจตนาสร้างหลักฐานว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยจำเลยทำหนังสือเรียกให้โจทก์จัดส่งแผนงานการก่อสร้างให้จำเลยพิจารณา จำเลยทราบอยู่แล้วว่าแผนงานก่อสร้างเป็นงานที่ต้องดำเนินการร่วมกันทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย โดยจำเลยต้องให้ข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดทำแผนงานก่อสร้างในเรื่องข้อมูลกรอบเวลาการทำงาน ปริมาณงาน ข้อมูลการสำรวจพื้นที่ทำงาน อีกทั้งจำเลยต้องตอบรับหนังสือขอขยายระยะเวลาการทำงานก่อน โจทก์จึงสามารถดำเนินการจัดทำแผนงานก่อสร้างใหม่ตามที่จำเลยเรียกร้องได้ และนายณพศักดิ์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อบริษัทที่ปรึกษาได้ปฏิเสธไม่ให้โจทก์ทำงานแล้ว ฝ่ายจำเลยได้ส่งเอกสารมายังพยาน เพื่อให้พยานเสนอแผนต่าง ๆ เพื่อให้บริษัทที่ปรึกษาไว้วางใจและเข้าทำงานได้ เห็นว่า โจทก์มีหน้าที่ตามสัญญาว่าจ้างที่ต้องให้ความร่วมมือกับจำเลยในการทำงานให้บรรลุถึงจุดประสงค์ของสัญญาหลัก ซึ่งย่อมมีความหมายรวมถึงกรณีที่โจทก์ต้องได้รับอนุมัติจากเจ้าของงานหรือที่ปรึกษาโครงการของเจ้าของงานให้เป็นผู้รับเหมาช่วงได้ด้วย เมื่อจำเลยได้เสนอแผนงานของโจทก์ให้ที่ปรึกษาโครงการพิจารณา แต่ที่ปรึกษาโครงการปฏิเสธไม่รับโจทก์เป็นผู้รับเหมาช่วง เนื่องจากยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานเจาะวางท่อลอดใต้ดินในแนวราบโดยไม่เปิดหน้าดิน จำเลยแจ้งให้โจทก์นำส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขออนุมัติจากที่ปรึกษาโครงการในการเข้าทำงานอีกหลายครั้ง โจทก์ต้องให้ความร่วมมือกับจำเลยโดยส่งเอกสารเพิ่มเติมให้จำเลย แต่โจทก์เพิกเฉยอ้างว่า จำเลยต้องให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่โจทก์ในการจัดทำแผนงานก่อสร้างในเรื่องข้อมูลกรอบเวลาการทำงาน ปริมาณงาน และข้อมูลการสำรวจพื้นที่ทำงาน ซึ่งหากโจทก์จะต้องการข้อมูลใดก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องแจ้งให้จำเลยทราบ การที่โจทก์เพิกเฉยถือว่าโจทก์ไม่ให้ความร่วมมือกับจำเลยในการทำงานให้บรรลุถึงจุดประสงค์ของสัญญาหลัก เพื่อที่โจทก์จะได้รับอนุมัติให้เป็นผู้รับเหมาช่วง จึงถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อตกลงเพื่อให้สามารถเข้าทำงานเป็นผู้รับเหมาช่วง แต่จำเลยมีส่วนผิดด้วยที่เลือกให้โจทก์เป็นผู้รับเหมาช่วง โดยทราบอยู่แล้วว่าโจทก์ไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน และไม่ดูแลให้โจทก์ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้รับเหมาช่วง โดยให้ข้อมูลแก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะได้เป็นผู้รับเหมาช่วง เมื่อสัญญาว่าจ้าง เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนว่า โจทก์จะเข้าทำงานเป็นผู้รับเหมาช่วงได้ต่อเมื่อเจ้าของงานหรือที่ปรึกษาโครงการของเจ้าของงานอนุญาต เมื่อที่ปรึกษาโครงการปฏิเสธไม่ให้โจทก์เป็นผู้รับเหมาช่วงและจำเลยก็ได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ ถือว่าเงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาว่าจ้างยังไม่สำเร็จ สัญญาว่าจ้างจึงไม่เป็นผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183 วรรคหนึ่ง โจทก์หาอาจกล่าวอ้างความผูกพันได้ไม่ ที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์จัดส่งแผนการดำเนินการและเอกสารงานออกแบบด้านวิศวกรรมให้แก่จำเลยซึ่งเป็นงานงวดที่ 2 และเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 โจทก์จัดส่งเครื่องจักร ได้แก่ หัวเจาะและเครื่องจักรอื่น ๆ ซึ่งเป็นงานงวดที่ 3 และค่าเสียหายอื่น พร้อมดอกเบี้ยเป็นค่าเสียหาย 250,959,782 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์เรียกร้องโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญา แต่เมื่อสัญญาว่าจ้างยังไม่มีผลใช้บังคับเพราะติดเงื่อนไขบังคับก่อนว่าโจทก์จะต้องได้รับอนุมัติให้เป็นผู้รับเหมาช่วงจากเจ้าของงานหรือที่ปรึกษาโครงการก่อน แต่โจทก์ไม่ได้รับอนุมัติ การที่โจทก์เตรียมแผนงานและเครื่องจักรไว้ก็เพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง ซึ่งหากโจทก์ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้รับเหมาช่วงก็จะได้ทำงานได้ทันทีเท่านั้น โดยที่จำเลยยังมิได้ตรวจสอบให้แล้วเสร็จและรับรองความถูกต้องและอนุมัติ แผนงานและเครื่องจักรดังกล่าวคงเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมของโจทก์ในการเข้าทำงาน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างและค่าเสียหายอื่นจากจำเลยได้ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินดังกล่าว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้จำเลย 30,000,000 บาท จากการที่จำเลยต้องว่าจ้างบุคคลอื่นเข้าทำงานแทนโจทก์ในราคาที่สูงกว่านั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาว่าจ้างไม่เกิดผลบังคับแล้ว จำเลยจะอาศัยข้อสัญญาข้อ 21 มาเรียกค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากโจทก์หาได้ไม่ ฎีกาของโจทก์และจำเลยฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งในส่วนฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลยทั้งสามศาลให้เป็นพับ

สรุป

โจทก์ทราบเงื่อนไขในสัญญาจ้างเหมาช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าโจทก์จะเริ่มทำงานตามสัญญาจ้างเหมาช่วงได้ต่อเมื่อโจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำงานจากเจ้าของงานหรือที่ปรึกษาโครงการซึ่งเป็นที่รับรู้และเข้าใจตรงกันว่าการได้รับอนุมัติจากเจ้าของงานเป็นสาระสำคัญในการก่อความผูกพันแก่ทั้งสองฝ่าย จึงถือได้ว่าสัญญาจ้างเหมาช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 183 เมื่อที่ปรึกษาโครงการปฏิเสธไม่ให้โจทก์เป็นผู้รับเหมาช่วง ถือว่าเงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาไม่สำเร็จ สัญญาจ้างเหมาช่วงจึงไม่เป็นผลตาม ป.พ.พ. มาตรา 183 วรรคหนึ่ง โจทก์หาอาจกล่าวอ้างความผูกพันตามสัญญาจ้างเหมาช่วงได้ไม่ และเมื่อสัญญาจ้างเหมาช่วงไม่มีผลใช้บังคับเพราะติดเงื่อนไขบังคับก่อน ดังนั้น ทั้งโจทก์และจำเลยต่างฝ่ายต่างก็จะเรียกร้องค่าจ้างและค่าเสียหายโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าวไม่ได้เช่นกัน