รู้อยู่แล้วว่าก่อสร้างผิดแบบ ยังนำออกขาย ฟ้องให้รับผิดค่าเสียหายได้หรือไม่

รู้อยู่แล้วว่าก่อสร้างผิดแบบ ยังนำออกขาย ฟ้องให้รับผิดค่าเสียหายได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4805/2553

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 1,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 358,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 458,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการ เมื่อเดือนสิงหาคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารตึกแถว 4 ชั้น จำนวน 8 ห้อง และตึกแถว 3 ชั้นจำนวน 26 ห้อง กับยื่นคำขออนุญาตจัดสรรที่ดินที่จะทำการก่อสร้างอาคารตึกแถวดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานสำนักงานเขตบางกะปิโดยมีเอกสารหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงาน สำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือกับแบบแปลนการก่อสร้างแนบท้ายหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงาน และแบบแปลนการก่อสร้างดังกล่าวระบุชื่อจำเลยที่ 4 เป็นวิศวกรและเป็นผู้ควบคุมงาน และเจ้าพนักงานได้ออกใบอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างได้ และแบบแปลนการก่อสร้างอาคารดังกล่าวแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2533 ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2533 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจในขณะนั้นได้ทำสัญญาขายอาคารพร้อมที่ดินคือทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น เลขที่ 310/233 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 204747 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ทั้งสองในราคา 1,000,000 บาท และได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันเดียวกันตามหนังสือสัญญาขายที่ดินและโฉนดที่ดิน อาคารและที่ดินที่โจทก์ทั้งสองซื้อมาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอาคารตึกแถวและที่ดินที่จำเลยที่ 1 ขออนุญาตก่อสร้างและจัดสรรที่ดินตาม โจทก์ทั้งสองเข้าพักอาศัยในอาคารนั้นได้ 1 ปีเศษ อาคารที่โจทก์ทั้งสองซื้อเริ่มแตกร้าว พื้นอาคารชั้นล่างแตกและโก่งงอ เมื่อต้นปี 2542 เจ้าพนักงานสำนักงานเขตบางกะปิตรวจสอบอาคารดังกล่าวและอาคารข้างเคียงรวมจำนวน 15 หลัง พบว่าอาคารมีการทรุดและเอียงตัวตลอดแนวทั้งด้านหน้าและด้านข้างเนื่องจากอาคารนั้นมีการทรุดตัวไม่เท่ากันของฐานรากจนมีสภาพหรือการใช้งานที่อาจเป็นอันตราย เจ้าพนักงานสำนักงานเขตบางกะปิจึงมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 และเจ้าของอาคารข้างเคียงจำนวนทั้ง 15 หลัง แก้ไขอาคารให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โจทก์ที่ 1 กับเพื่อนบ้านติดต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ขอให้ส่งวิศวกรมาตรวจสอบ ผลการตรวจสอบพบว่าฐานรากของอาคารดังกล่าวเอียงและบิดตัวตำแหน่งศูนย์กลางของเข็มและเสาเยื้องกันมากทำให้เกิดการแตกร้าวของโครงสร้างโดยเฉพาะอาคารที่โจทก์ทั้งสองซื้อไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัยควรจะทุบและรื้อถอนโจทก์ทั้งสองได้ทุบและรื้อถอนอาคารนั้นแล้ว และต่อมาได้ขายที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าวไปในราคา 4,000,000 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ได้อธิบายให้โจทก์ทั้งสองฟังแล้วว่าผู้ซื้อเดิมขอให้ตัดเสากลางของอาคารออก โจทก์ทั้งสองจึงทราบดีอยู่แล้วในขณะซื้อบ้านนั้นว่าบ้านดังกล่าวไม่มีเสากลางแต่โจทก์ทั้งสองก็ตกลงซื้อนั้น ในปัญหานี้โจทก์ทั้งสองมีโจทก์ที่ 1 มาเบิกความยืนยันว่าโจทก์ที่ 1 ได้ถามจำเลยที่ 2 ในขณะไปดูการก่อสร้างอาคารที่โจทก์ทั้งสองซื้อตามคำฟ้องว่า อาคารพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างนี้ทำไมไม่มีเสากลางบ้าน จำเลยที่ 2 บอกว่าอาคารนี้ได้ถูกออกแบบมาอย่างดีและถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ไม่จำเป็นต้องมีเสากลางของอาคารก็ได้ โจทก์ทั้งสองจึงตกลงซื้ออาคารหลังดังกล่าว หลังจากโจทก์ทั้งสองเข้าพักอาศัยในอาคารหลังนั้นได้ 1 ปีเศษ อาคารดังกล่าวเริ่มแตกร้าว พื้นอาคารชั้นล่างแตกและโก่งงอ ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบโดยมีจำเลยที่ 2 มาเบิกความเป็นพยานจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่า การก่อสร้างอาคารทาวน์เฮาส์หลังที่โจทก์ทั้งสองซื้อเป็นการก่อสร้างผิดไปจากแบบที่ได้ขออนุญาตจากทางราชการไว้ ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวดีอยู่แล้วในขณะที่ขายอาคารทาวน์เฮาส์หลังนั้นให้แก่โจทก์ทั้งสอง กรณีจึงมีเหตุผลให้เชื่อตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า เหตุที่โจทก์ทั้งสองซื้ออาคารทาวน์เฮาส์หลังดังกล่าวเป็นเพราะจำเลยที่ 2 ยืนยันต่อโจทก์ที่ 1 ว่าอาคารทาวน์เฮาส์นั้นได้ถูกออกแบบมาอย่างดีและถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ไม่จำเป็นต้องมีเสากลางของอาคารก็ได้ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ปรากฏการแตกร้าวของอาคารทาวน์เฮาส์หลังนั้นให้เห็นกรณีไม่มีเหตุผลพอให้เชื่อตามที่จำเลยที่ 2 นำสืบและฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ได้อธิบายให้โจทก์ทั้งสองฟังแล้วว่าผู้ซื้ออาคารทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเดิมขอให้ตัดเสากลางออกซึ่งโจทก์ทั้งสองทราบดีว่าการก่อสร้างอาคารนั้นเป็นการก่อสร้างผิดแบบ แต่โจทก์ทั้งสองก็ยังตกลงซื้อในราคา 1,000,000 บาท ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าอาคารทาวน์เฮาส์หลังที่ขายให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ก่อสร้างผิดไปจากแบบที่ได้ขออนุญาตจากทางราชการไว้ยังยืนยันต่อโจทก์ที่ 1 ว่า อาคารทาวน์เฮาส์นั้นได้ถูกออกแบบมาอย่างดีและถูกต้องตามหลักวิศวกรรม โดยไม่จำเป็นต้องมีเสากลางของอาคาร จึงเป็นการจงใจปกปิดข้อความจริงดังกล่าวเพื่อจูงใจให้โจทก์ทั้งสองซื้ออาคารทาวน์เฮาส์หลังนั้นเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเนื่องจากเมื่อโจทก์ทั้งสองเข้าไปอยู่อาศัยในอาคารทาวน์เฮาส์ดังกล่าวได้เพียง 1 ปีเศษ อาคารนั้นก็เริ่มแตกร้าว พื้นอาคารชั้นล่างแตกและโก่งงอ ในข้อนี้วิศวกรคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ฐานรากของอาคารดังกล่าวเอียงและบิดตัว ตำแหน่งศูนย์กลางของเข็มและเสาเยื้องกันมาก ทำให้เกิดการแตกร้าวของโครงสร้างโดยเฉพาะอาคารที่โจทก์ทั้งสองซื้อไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย ควรจะทุบและรื้อถอน ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ทุบและรื้อถอนอาคารนั้นแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ทั้งสองดังกล่าวมีเหตุผลให้เชื่อว่าเป็นผลมาจากการก่อสร้างอาคารทาวน์เฮาส์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง

ปัญหาว่าจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นวิศวกรต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ หากจำเลยที่ 4 มิได้เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคารดังกล่าวให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่ 4 มิได้ลงลายมือชื่อในช่องวิศวกรและผู้ควบคุมงานในหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและในหนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงาน แต่ลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอมจริงดังที่จำเลยที่ 4 ได้ยื่นคำให้การต่อสู้ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2543 จำเลยที่ 4 ก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเพราะการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการดำเนินการก่อสร้างผิดแบบที่ได้ขออนุญาตไว้ต่อทางราชการจนเป็นเหตุให้ต้องมีการรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ซื้อไปเนื่องจากอาคารนั้นแตกร้าวและไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัยอันจะมีผลมาถึงจำเลยที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างนั้นว่าจำเลยที่ 4 ไม่ได้ใช้ความรู้ในวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบเพื่อให้อาคารนั้นมีความมั่นคงและปลอดภัยในการอยู่อาศัยจนจำเลยที่ 4 อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมได้ แต่จำเลยที่ 4 ก็มิได้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาความผิดดังกล่าวตลอดมาจนบัดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัยของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมเช่นจำเลยที่ 4 อย่างยิ่ง กรณีมีเหตุผลให้เชื่อว่าที่จำเลยที่ 4 ไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 4 ได้รับความเสียหายดังกล่าวและรู้ตัวผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 4 แล้วว่าคือจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้นเป็นเพราะจำเลยที่ 4 ได้เข้าควบคุมงานการก่อสร้างอาคารที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขออนุญาตก่อสร้างจากทางราชการ ซึ่งรวมทั้งอาคารทาวน์เฮาส์ที่โจทก์ทั้งสองซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 4 ได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือแม้จะฟังข้อเท็จจริงว่าลายมือชื่อวิศวกรและผู้ควบคุมงานเป็นลายมือชื่อจำเลยที่ 4 ปลอมดังที่จำเลยที่ 4 ฎีกา ก็มีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อจำเลยที่ 4 ในช่องวิศวกรและผู้ควบคุมงานในและจำเลยที่ 4 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของจำเลยที่ 4 ไปใช้ในการยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารดังกล่าวต่อสำนักงานเขตบางกะปิ โดยจำเลยที่ 4 ได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองจนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ดังนี้ ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 ยังไม่ได้ดำเนินคดีแก่ผู้เกี่ยวข้องเป็นเพราะจำเลยที่ 4 ได้ปรึกษากับทนายความแล้วเห็นว่ายังมีเวลาและอายุความในการดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการนำเอกสารที่มีลายมือชื่อปลอมของจำเลยที่ 4 ไปใช้โดยทุจริตมีอายุความถึง 10 ปีในช่วงแรกจำเลยที่ 4 ยังไม่ทราบว่าบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้องบ้างนั้น จึงไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้

ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 450,000 บาท ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่นั้นเห็นว่าค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนอาคารที่โจทก์ทั้งสองซื้อและค่าสูญเสียตัวอาคารนั้นอันทำให้โจทก์ทั้งสองขาดประโยชน์จากการใช้สอยอาคารนั้นเองหรือนำออกขายให้แก่ผู้อื่น แม้โจทก์ทั้งสองมิได้นำสืบว่าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินจำนวนเท่าใด แต่ข้อเท็จจริงดังที่ได้วินิจฉัยมารับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายในส่วนนี้เนื่องจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 438 วรรคหนึ่ง บ้านแบบทาวน์เฮาส์ที่โจทก์ทั้งสองซื้อเป็นบ้านหลังริมสุดมีเนื้อที่กว้างกว่าบ้านหลังอื่น บ้านที่โจทก์ทั้งสองซื้อมีขนาดใหญ่เท่าบ้านจำนวน 2 หลัง และมีราคาสูงกว่าบ้านหลังอื่น ดังนี้ การรื้อถอนบ้านที่โจทก์ทั้งสองซื้อซึ่งมีขนาดใหญ่เท่าบ้านจำนวน 2 หลัง จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าการรื้อถอนบ้านทาวน์เฮาส์ 1 หลัง ซึ่งมีขนาดปกติทั่วไป และค่าสูญเสียตัวอาคารนั้นให้แก่โจทก์ทั้งสองเพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดจำนวน 100,000 บาท เป็นจำนวน 450,000 บาทและเมื่อรวมกับค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างผู้มีความรู้ความชำนาญมาตรวจสอบอาคารหลังที่โจทก์ทั้งสองซื้อซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดให้จำนวน 8,000 บาท โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โต้แย้งแล้วเป็นจำนวน 458,000 บาทนั้นเห็นว่าเป็นจำนวนค่าเสียหายที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ทั้งสองแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

การที่จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าอาคารทาวน์เฮาส์ที่ขายให้โจทก์ก่อสร้างผิดไปจากแบบที่ขออนุญาตจากทางราชการ ยังยืนยันต่อโจทก์ว่าอาคารดังกล่าวได้ถูกออกแบบมาอย่างดีถูกต้องตามหลักวิศวกรรมไม่จำต้องมีเสากลางอาคาร จึงเป็นการจงใจปกปิดข้อความจริงเพื่อจูงใจให้โจทก์ซื้ออาคาร เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเมื่อเข้าอยู่อาศัยในอาคารได้ 1 ปีเศษ อาคารเริ่มแตกร้าว พื้นอาคารชั้นล่างแตกและโก่งงอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ตรวจสอบแล้วพบว่าฐานรากของอาคารเอียงและบิดตัว ตำแหน่งศูนย์กลางของเข็มและเสาเยื้องกันมากทำให้เกิดการแตกร้าวของโครงสร้าง อาคารดังกล่าวไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัยควรจะทุบและรื้อถอน ซึ่งโจทก์ได้ทุบและรื้อถอนอาคารนั้นแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการก่อสร้างอาคารดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

จำเลยที่ 4 เป็นฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างไม่ได้ใช้ความรู้ในวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบเพื่อให้อาคารมีความมั่นคงและปลอดภัยในการอยู่อาศัย ทั้งเข้าควบคุมงานก่อสร้างอาคารและขออนุญาตก่อสร้างจากทางราชการให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือแม้จะฟังว่าลายมือชื่อวิศวกรและผู้ควบคุมงานก่อสร้างเป็นลายมือชื่อปลอมก็มีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อจำเลยที่ 4 ในช่องวิศวกรและผู้ควบคุมงาน และยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของจำเลยที่ 4 ไปใช้ในการยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารดังกล่าวต่อสำนักงานเขต โดยได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 4 ถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนอาคารและค่าสูญเสียตัวอาคารอันทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้สอยอาคารหรือนำอาคารออกขายให้แก่ผู้อื่นแม้โจทก์มิได้นำสืบว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนเท่าใด แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนนี้เนื่องจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง