ปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำลำน้ำ ศาลสั่งปรับแล้วสามารถยื่นคำร้องทุเลาการรื้อถอนได้หรือไม่

ปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำลำน้ำ ศาลสั่งปรับแล้วสามารถยื่นคำร้องทุเลาการรื้อถอนได้หรือไม่

คดีสืบเนื่องจากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง, 118 ลงโทษปรับจำเลย กับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและอาคารที่ก่อสร้างล่วงล้ำลำแม่น้ำเจ้าพระยาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา จำเลยชำระค่าปรับแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับที่ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและอาคารฯ โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยยื่นคำร้องของดการบังคับคดีในส่วนนี้ด้วยเหตุมีพฤติการณ์พิเศษ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า คำสั่งที่ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและอาคารที่ล่วงล้ำลำแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ได้รับอนุญาตมิใช่เป็นโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 และโทษทางปกครอง แต่เป็นความรับผิดส่วนแพ่ง ซึ่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 ก็มิได้ยกเว้นผู้ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลในกรณีดังกล่าว กรณีไม่มีเหตุงดเว้นการบังคับคดีตามคำพิพากษา พิพากษายืน จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาพร้อมกับยื่นฎีกา และคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า สำเนาคำร้องและฎีกาให้โจทก์ เนื่องจากเป็นคดีส่วนแพ่งให้จำเลยวางเงินค่านำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง แจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบ ส่งคำร้องพร้อมฎีกา และสำนวนให้ศาลฎีกาพิจารณา

ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีอาญาที่ถึงที่สุดแล้ว ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 144,798.80 บาท กับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและอาคารที่ก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตภายใน 60 วัน นับแต่มีคำพิพากษา โทษที่ลงแก่จำเลยเป็นโทษทางอาญา และเมื่อคดีถึงที่สุด ต้องมีการบังคับตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ในภาค 6 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้งดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและอาคารที่ก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำโดยอ้างถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 มีผลเท่ากับเป็นการของดการบังคับโทษทางอาญา อันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้น จำเลยไม่มีอำนาจยื่นคำร้องดังกล่าว ทั้งกรณีมิใช่เป็นเรื่องของการบังคับคดีส่วนแพ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ที่ต้องขออนุญาตฎีกา ประกอบกับไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิจำเลยยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีในกรณีเช่นนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องขออนุญาตฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ให้ยกคำร้องของดการบังคับคดี ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับคำร้องขออนุญาตฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลย และมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย กับให้ศาลชั้นต้นดำเนินการบังคับคดีนี้โดยไม่ชักช้า

สรุป

คดีนี้เป็นคดีอาญาที่ถึงที่สุดแล้ว ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษปรับกับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและอาคารที่ก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตภายใน 60 วัน นับแต่มีคำพิพากษา โทษที่ลงแก่จำเลยเป็นโทษทางอาญาและเมื่อคดีถึงที่สุด ต้องมีการบังคับตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ในภาค 6 แห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้งดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและอาคารที่ก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำโดยอ้างถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 มีผลเท่ากับเป็นการของดการบังคับโทษทางอาญาอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้น จำเลยไม่มีอำนาจยื่นคำร้องดังกล่าว ทั้งกรณีมิใช่เป็นเรื่องของการบังคับคดีส่วนแพ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 247 ที่ต้องขออนุญาตฎีกา ประกอบกับไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิจำเลยยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีในกรณีเช่นนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องขออนุญาตฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ