ที่ดินเช่าจากผู้มีสิทธิ ฟ้องขับไล่ผู้เช่าช่วงได้หรือไม่

ที่ดินเช่าจากผู้มีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้เช่าช่วงได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากอาคารเลขที่ 174 และ 176 ซอยเลื่อนฤทธิ์ แขวงจักรพรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโครงการชุมชนคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และห้ามมิให้จำเลยทั้งสองและบริวารยุ่งเกี่ยวกับอาคารและที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้สอยอาคารพิพาทจำนวน 600,000 บาท และค่าเสียหายอัตราเดือนละ 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมทั้งส่งมอบกา รครอบครองแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเกิดจากค่าปรับในการก่อสร้างล่าช้า และค่าเสียหายอื่นจากการทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง ซึ่งโจทก์ต้องชำระให้แก่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อัตราเดือนละ 8,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากอาคารและที่ดินพิพาท

จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ระหว่างพิจารณา สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยื่นคำร้องฉบับวันที่ 31 มีนาคม 2558 ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นเห็นว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) จึงอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ และโจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากอาคารเลขที่ 174 และ 176 ซอยเลื่อนฤทธิ์ แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโครงการชุมชนคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม และห้ามมิให้จำเลยที่ 1 และบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินและอาคารดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายอัตราเดือนละ 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมทั้งส่งมอบการครอบครองแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์และโจทก์ร่วม โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณานับแต่การยื่นคำร้องสอดเสียใหม่ให้ถูกต้อง แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาไปตามรูปคดี คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 1 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา

ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามคำร้องฉบับวันที่ 31 มีนาคม 2558 ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 รับไป โจทก์ไม่คัดค้าน จำเลยที่ 1 คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าเป็นโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2)

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากอาคารเลขที่ 174 และ 176 ซอยเลื่อนฤทธิ์ แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันวงศ์ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโครงการชุมชนคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมและห้ามมิให้จำเลยที่ 1 และบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินและอาคารดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายอัตราเดือนละ 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมทั้งส่งมอบการครอบครองแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์และโจทก์ร่วม โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นนี้นอกจากนี้ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้องและคำให้การที่รับกันหรือไม่โต้แย้งว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคาร 231 คูหา ตั้งอยู่ที่ซอยเลื่อนฤทธิ์ แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกว่า ชุมชนคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทเลขที่ 174 และ 176 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาคารดังกล่าวจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อประกอบการค้าและอยู่อาศัย มีกำหนดเวลา 3 ปี ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินและอาคาร 231 คูหา ในชุมชนคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อทำโครงการพัฒนาชุมชนคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ที่มีสภาพเสื่อมโทรม หลังจากทำสัญญาโจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองที่ดินและอาคารพิพาทได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยังไม่ออกไป

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และโจทก์ร่วมร้องสอดเข้ามาในคดีได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดกันมาก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้โดยลำพัง ทั้งตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมก็ไม่มีข้อตกลงให้โจทก์ร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่ว่าผลคดีนี้จะเป็นอย่างไร โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีและไม่อาจยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ เห็นว่า แม้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมจะไม่มีข้อตกลงให้โจทก์ร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ และโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กันก็ตาม แต่การที่โจทก์ร่วมเอาที่ดินและอาคารพิพาทออกให้โจทก์เช่าเพื่อพัฒนานั้น โจทก์และโจทก์ร่วมย่อมมุ่งประสงค์ต่อความสำเร็จและผลประโยชน์จากสัญญาที่ตกลงกันไว้และต่างมีสิทธิหน้าที่ตามสัญญาต่อกัน การที่โจทก์ร่วมไม่ได้ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ยอมออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาทภายหลังสัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองทำประโยชน์และปฏิบัติตามสัญญาเช่าที่ทำไว้กับโจทก์ร่วมได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือเป็นการรอนสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินและอาคารพิพาทโดยขอให้ศาลเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 และปรากฏว่า ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมได้ร้องสอดเข้ามาในคดีเพราะว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ร่วมด้วย เนื่องจากจำเลยที่ 1 อยู่ในที่ดินและอาคารพิพาทโดยไม่มีสิทธิและหากโจทก์ไม่สามารถฟ้องขับไล่และบังคับจำเลยที่ 1 ให้ออกจากที่ดินและอาคารพิพาทได้ย่อมกระทบต่อสัญญาเช่าที่โจทก์และโจทก์ร่วมได้ทำกันไว้ และก่อให้เกิดความเสียหายในที่สุด โจทก์ร่วมจึงมีส่วนได้เสียชอบที่จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมในคดีเพื่อบังคับตามสิทธิของโจทก์ร่วมที่มีอยู่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) ถึงแม้ว่าโจทก์ร่วมจะเป็นฝ่ายร้องสอดเข้ามาในคดีด้วยตนเอง มิใช่โจทก์ขอให้ศาลออกหมายเรียกให้โจทก์ร่วมเข้ามาในคดีก็ตาม ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ร่วมที่จะเข้ามาในคดีเพราะผลแห่งคดีย่อมกระทบถึงส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมที่มีอยู่กับโจทก์ตามสัญญาเช่า และไม่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโดยเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 ที่เมื่อมีการรบกวนขัดสิทธิเป็นคดีระหว่างผู้เช่ากับบุคคลภายนอก ให้ผู้เช่าเรียกผู้ให้เช่าเข้ามาในคดีนั้นก็เพื่อให้ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีทั้งหลายรวมไปในคราวเดียวกัน ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมร้องสอดเข้ามาจึงเป็นไปตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ร่วมมีหน้าที่นำสืบในเรื่องการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี โจทก์ร่วมไม่มีหลักฐานหรือเอกสารการมอบอำนาจให้นายจิรายุ ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังตามคำเบิกความของนายปิยศักดิ์ ว่าโจทก์ร่วมมอบอำนาจให้นายจิรายุฟ้องคดีจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบนั้น เมื่อพิจารณาเอกสารแล้วได้ความว่า คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มอบอำนาจให้นายจิรายุซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นตัวแทนเพื่อกระทำกิจการแทนและหรือในนามของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และให้มีอำนาจดำเนินคดี ต่อสู้คดี ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีทั้งปวงซึ่งเกี่ยวกับสิทธิหรือทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมถึงมีอำนาจแต่งตั้งผู้รับมอบอำนาจช่วงและให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงมีอำนาจแต่งตั้งผู้รับมอบอำนาจช่วงได้อีกทอดหนึ่ง ต่อมานายจิรายุมอบอำนาจให้บริษัททุนลดาวัลย์ จำกัด เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการแทน แล้วบริษัททุนลดาวัลย์ จำกัด มอบอำนาจช่วงให้นายปิยศักดิ์เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการด้านกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าที่ดินพิพาท รวมทั้งการบริหารสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โจทก์ร่วม ส่วนจำเลยที่ 1 ให้การเพียงว่า การมอบอำนาจของโจทก์ร่วมไม่ชอบ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์ร่วมรับฟังได้ว่าโจทก์ร่วมได้มอบอำนาจให้ร้องฟ้องคดีนี้โดยชอบแล้ว โจทก์ร่วมจึงมีอำนาจร้องสอดเข้ามาในคดีได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกาแทนโจทก์ 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นนี้นอกจากนี้ให้เป็นพับ

    • (วิวรรต นิ่มละมัย-สมศักดิ์ คุณเลิศกิจ-สุทธิโชค เทพไตรรัตน์)