ก่อสร้างไม่เสร็จและละทิ้งงาน ถือเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาหรือไม่

ก่อสร้างไม่เสร็จและละทิ้งงาน ถือเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2438-2439/2545

จำเลยที่ 1 ก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ภายในกำหนดให้แก่โจทก์โจทก์รับมอบงานและชำระค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงที่ 3 ครบถ้วน ส่วนงวดที่ 4 ชำระเพียงบางส่วน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดนัดไม่ชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้บอกเลิกสัญญาหลังจากครบกำหนดเวลาก่อสร้างแล้วโจทก์ชำระค่าจ้างที่ค้างชำระในงวดที่ 4 ให้แก่จำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 1 ก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ 5 และที่ 6 โจทก์ยอมรับมอบงานงวดที่ 5 และที่ 6 และชำระค่าจ้างให้ครบถ้วน แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1ยังคงปฏิบัติต่อกันตามสัญญาจ้างต่อไป โดยมิได้ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานและชำระค่าจ้างเป็นงวดเป็นสาระสำคัญ และไม่จำต้องมีการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีก แต่จำเลยที่ 1 กลับก่อสร้างงานงวดที่ 7 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายไม่แล้วเสร็จและละทิ้งงาน ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

แม้โจทก์จะมีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันในกรณีส่งมอบงานล่าช้าตามสัญญาแต่หลังจากครบกำหนดเวลาก่อสร้างแล้วคู่กรณีก็ไม่ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญ ดังนี้ วันที่มีการส่งมอบงานล่าช้าจึงไม่มีอีกต่อไป โจทก์ไม่มีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวัน คงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่เป็นค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นในการทำงานนั้นต่อให้เสร็จตามสัญญาจ้าง เพื่อทดแทนความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 และหากโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนค่าเสียหายลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 223

จำเลยที่ 1 ละทิ้งงานงวดที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2538 ซึ่งโจทก์ควรรีบใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาทันทีเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น แต่โจทก์กลับปล่อยปละละเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2538 อันเป็นเวลาห่างกันเกือบ4 เดือน จากนั้นโจทก์เพิ่งมาทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ให้ก่อสร้างงานต่อในส่วนที่เหลือ หลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 แล้วเป็นเวลาถึง 1 ปี 5 เดือนเศษ ย่อมทำให้ราคาค่าก่อสร้างงานสูงขึ้นและส่วนที่ก่อสร้างไปแล้วเกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดค่าเสียหายลงเป็นจำนวนพอสมควรได้

ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนและให้ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับโจทก์กับจำเลยที่ 4 ทั้งสองศาลทั้งสองสำนวนเป็นพับ โดยไม่แยกเป็นรายสำนวนไม่ถูกต้องเพราะสำนวนแรกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้เป็นคู่ความด้วย