การรีบดำเนินการในการก่อสร้าง ถือเป็นหลักสุจริตที่คู่สัญญาพึงมีต่อกันหรือไม่

การรีบดำเนินการในการก่อสร้าง ถือเป็นหลักสุจริตที่คู่สัญญาพึงมีต่อกันหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2553

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีอำนาจหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 โจทก์ฟ้องคดีนี้แทนนางกาหลง ผู้บริโภค โดยก่อนคดีนี้โจทก์เคยได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภครายอื่นว่า ผู้บริโภคดังกล่าวได้รับความเดือนร้อนและเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และเห็นว่าการดำเนินคดีจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม จึงมีมติมอบหมายให้พนักงานอัยการซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคดำเนินคดีแพ่งฟ้องเรียกเงินและค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอ และให้รวมถึงผู้บริโภครายอื่นที่จะมาร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในลักษณะทำนองเดียวกันเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลังด้วย ตามรายงานการประชุมอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภค ครั้งที่ 1/2542 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2542 และมติคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 3/2542 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2542 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อระหว่างปี 2532 ถึงปี 2542 จำเลยซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และจัดสรรที่ดิน ได้จัดสรรที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3141 แขวงวังทองหลาง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยประเภททาวน์ฮาส์จำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปด้วยการโฆษณาชี้ชวนในโครงการบ้านสรานนท์ – 101 ต่อมาประชาชนจำนวนหลายคนรวมทั้งนางกาหลงผู้บริโภคได้เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์กับจำเลย โดยนางกาหลงผู้บริโภคชำระเงินค่าจอง วางเงินดาวน์และผ่อนชำระเงินค่างวดตามสัญญาแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 130,000 บาท แต่จำเลยไม่ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาตามสัญญาอันเป็นการผิดสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งได้รับมอบอำนาจจากนางกาหลงผู้บริโภคจึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายใน 15 วัน มิฉะนั้นให้ถือหนังสือดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจำเลยได้รับแล้วเพิกเฉย จำเลยต้องคืนเงินจำนวน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยรับเงินไปจากนางกาหลงผู้บริโภคแต่ละงวด แต่นางกาหลงผู้บริโภคขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 อันเป็นวันที่จำเลยรับเงินงวดสุดท้าย ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 77,706.16 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 207,706.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 130,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางกาหลงผู้บริโภค

จำเลยให้การว่า จำเลยประกอบธุรกิจซื้อขายจัดสรรที่ดินและก่อสร้างบ้านจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยกู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นทุนเพื่อดำเนินการ โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันรวมทั้งโครงการบ้านสรานนท์-101 ด้วย เมื่อประมาณกลางปี 2540 ประเทศไทย เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจทำให้สถาบันการเงินได้รับผลกระทบ รวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัทดังกล่าวไม่ยินยอมให้จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงย่อยตามที่จำเลยร้องขอเพื่อนำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่ผู้ซื้อตามข้อตกลงที่ได้ปฏิบัติต่อกันมา และให้จำเลยชำระเงินกู้ทั้งหมดประมาณ 109,000,000 บาท ในคราวเดียว ซึ่งเป็นการพ้นวิสัยที่จำเลยจะปฏิบัติได้ ถือว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อจำเลยและเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถก่อสร้างโครงการบ้านสรานนท์-101 ให้แล้วเสร็จและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านให้นางกาหลง ผู้บริโภคได้จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายตามฟ้อง แต่นางกาหลงผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่างวดตามสัญญาตั้งแต่งวดที่ 6 ให้จำเลย สัญญาจึงเลิกกันในทันที จำเลยมีสิทธิริบเงินทั้งหมดที่นางกาหลงผู้บริโภคชำระแล้ว ทั้งมติที่ประชุมของโจทก์ ครั้งที่ 3/2542 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2542 ที่ให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคดำเนินคดีแก่จำเลยก็ไม่มีผลบังคับ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยโจทก์ไม่เคยมีการประชุมและลงมติในกรณีของนางกาหลงผู้บริโภคตามคำฟ้องโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 207,706.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 130,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางกาหลง ผู้บริโภค กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ (ถ้ามี)

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน แต่จำเลยไม่ต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ (ถ้ามี) และให้คืนค่าธรรมเนียมให้โจทก์และจำเลยฝ่ายละ 150 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้เถียงกันรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดินโดยแบ่งเป็นแปลงย่อยแล้วสร้างบ้านขายพร้อมที่ดินแก่บุคคลทั่วไป เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2540 นางกาหลง ผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแบบทาวน์เฮาส์ 3 ชั้นครึ่ง เนื้อที่ 18 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 3141 แขวงวังทองหลาง เขตบางกระปิ กรุงเทพมหานคร ในโครงการบ้านสรานนท์-101 จากจำเลย ในราคา 2,110,000 บาท ชำระแล้ว 70,000 บาท ส่วนที่เหลือ 2,040,000 บาท ตกลงชำระเป็นงวดๆ รวม 17 งวด และจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งนางกาหลงผู้บริโภคได้ชำระเงินค่างวดแล้ว 5 งวด รวมเป็นเงิน 60,000 บาท โดยชำระครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2540 หลังจากนั้นไม่ชำระเนื่องจากจำเลยยังไม่ลงมือก่อสร้างบ้าน ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 นางกาหลงผู้บริโภคจึงร้องเรียนต่อโจทก์ขอให้ดำเนินการบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนจากจำเลยจำนวน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย วันที่ 3 สิงหาคม 2548 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนางกาหลงผู้บริโภคจึงมีหนังสือถึงจำเลยให้ดำเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นางกาหลงผู้บริโภคให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากไม่ดำเนินการให้ถือหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญาแทนนางกาหลงผู้บริโภคจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วแต่เพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายคือไม่ได้นำเรื่องของนางกาหลงผู้บริโภคเข้าประชุมและลงมติ ส่วนมติของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.16 ขัดต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 (1) ไม่มีผลตามกฎหมายที่จะบังคับแก่จำเลยได้ ในปัญหานี้โจทก์มีนายยี่โถ ซึ่งรับราชการตำแหน่งนิติกร 5 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมาเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.16 ว่า ช่วงปี 2538 และปี 2539 โจทก์ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคหลายรายซึ่งทำสัญญาจะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโครงการบ้านสรานนท์-101 จากจำเลย ผู้บริโภคได้ชำระเงินให้จำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ก่อสร้างบ้านและพัฒนาที่ดินตามที่โฆษณาไว้ โจทก์ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 3/2542 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2542 ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาอันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคดำเนินคดีแพ่งแก่จำเลยแทนผู้บริโภค ในการดำเนินคดีดังกล่าวให้รวมถึงผู้บริโภครายอื่นๆ ที่จะมาร้องเรียนจำเลยต่อโจทก์ ในลักษณะเรื่องทำนองเดียวกันเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลังด้วย ตามสำเนารายงานประชุมของโจทก์เอกสารหมาย จ.16 จำเลยยอมรับว่าโจทก์มีมติดังกล่าวจริงแต่อ้างว่าไม่มีผลตามกฎหมาย เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างนางกาหลงผู้บริโภคกับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นปัญหาพิพาทเกี่ยวกับโครงการบ้านสรานนท์-101 ของจำเลยซึ่งโจทก์เคยประชุมและมีมติไว้แล้วว่า การกระทำของจำเลยที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้บริโภคจำนวน 9 รายในโครงการดังกล่าวของจำเลย เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคเหล่านั้น เมื่อนางกาหลงผู้บริโภคยื่นเรื่องราวต่อโจทก์อันเป็นปัญหาพิพาทในโครงการเดียวกันของจำเลย เป็นเรื่องในลักษณะเดียวกับที่โจทก์เคยมีมติไว้แล้ว เช่นนี้ โจทก์จึงไม่จำต้องนำเรื่องราวของนางกาหลงผู้บริโภคเข้าประชุมอีก เนื่องจากโจทก์ได้มีมติไว้แล้วว่าในการดำเนินคดีแก่จำเลยนั้นให้รวมถึงผู้บริโภครายอื่นที่จะมาร้องเรียนเพิ่มเติมในลักษณะเดียวกันในภายหลังด้วย มติของโจทก์ดังกล่าวหาได้ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใดไม่ การฟ้องร้องของโจทก์ในคดีนี้จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 (1) (7) และมาตรา 39 โจทก์มีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ที่จำเลยฎีกาว่า นางกาหลงผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากไม่ชำระเงินค่างวด ตั้งแต่งวดที่ 6 เป็นต้นไป อันเป็นการผิดสัญญาตามข้อ 14 ของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเอกสารหมาย จ.4 ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านางกาหลงผู้บริโภคทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 กับจำเลยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2540 แม้เวลาจะล่วงเลยมาประมาณ 10 ปี จำเลยก็ยังมิได้ลงมือก่อสร้างบ้านตามสัญญาดังที่นางแตงโม พยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2550 เห็นว่า แม้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 จะมิได้กำหนดเวลาการเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาการก่อสร้างแล้วเสร็จไว้ แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยต้องรีบลงมือก่อสร้างและก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควร อันเป็นไปตามหลักสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 ที่บัญญัติว่าสัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต หาใช่ว่าการเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดแล้วเสร็จขึ้นอยู่กับความพอใจของจำเลยว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อใดก็ได้ไม่ แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องรีบลงมือก่อสร้างโดยพลันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นางกาหลงผู้บริโภคได้ชำระเงินแก่จำเลยเป็นจำนวนถึง 130,000 บาท แต่จำเลยยังมิได้เริ่มลงมือก่อสร้างบ้าน นางกาหลงผู้บริโภคจึงมีสิทธิที่จะไม่ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยได้เนื่องจากเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 ดังนั้น การที่นางกาหลงผู้บริโภคไม่ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยตั้งแต่งวดที่ 6 เป็นต้นไปนั้น นางกาหลงผู้บริโภคหาได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อกลางปี 2540 ประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ ประชาชนและสถาบันการเงินได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง รวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ จำกัด (มหาชน) ผู้ซึ่งให้จำเลยกู้เงินมาใช้ในโครงการบ้านสรานนท์-101 ด้วย บริษัทดังกล่าวจึงผิดสัญญาแก่จำเลย ไม่ยินยอมปลอดจำนองที่ดินแปลงย่อยตามที่จำเลยร้องขอเพื่อนำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่ผู้ซื้อตามข้อตกลงที่ได้ปฏิบัติต่อกัน และให้จำเลยชำระเงินกู้ทั้งหมดในคราวเดียว จำนวนเงินประมาณ 109,000,000 บาท คืน แล้วบริษัทดังกล่าวจึงจะคืนหลักประกันเงินกู้ทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งที่ดินจัดสรรที่นางกาหลงผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลย ข้อเรียกร้องของบริษัทดังกล่าวเป็นการพ้นวิสัยที่จำเลยจะปฏิบัติได้ ด้วยเหตุดังกล่าวจำเลยจึงไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่นางกาหลงผู้บริโภคได้ เห็นว่า การกระทำผิดสัญญาของจำเลยไม่ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่นางกาหลงผู้บริโภคได้ อันเนื่องมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ จำกัด (มหาชน) ไม่ยินยอมปลอดจำนองที่ดินแปลงย่อยตามที่จำเลยร้องขอดังที่จำเลยกล่าวอ้าง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยไม่ยอมลงมือก่อสร้างบ้านตามสัญญา แม้ระยะเวลาจะผ่านมาแล้วนับสิบปีอันเป็นการผิดสัญญาต่อนางกาหลงผู้บริโภค ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้ดำเนินคดีแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ จำกัด (มหาชน) และจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ จำกัด (มหาชน) ไม่ทำให้จำเลยไม่ตกเป็นผู้ผิดสัญญาในคดีนี้แต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า การก่อสร้างบ้านเป็นเหตุสุดวิสัยและเป็นการพ้นวิสัยที่จำเลยจะกระทำได้ เนื่องจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ จำกัด (มหาชน) ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาในคดีที่จำเลยฟ้องบริษัทดังกล่าวนั้น เห็นว่า จำเลยให้การไว้แต่เพียงว่า การชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดในคราวเดียวแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นการพ้นวิสัยที่จำเลยจะปฏิบัติได้ หาได้ให้การต่อสู้ว่า การชำระหนี้ของจำเลยต่อนางกาหลงผู้บริโภคเป็นการพ้นวิสัยแต่อย่างใด ฎีกาส่วนนี้ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยให้ ก็เป็นการไม่ชอบถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

อนึ่ง ในการดำเนินคดีในศาลของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในกรณีนี้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 วรรคสอง ดังนั้นที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้น 200 บาท ค่าส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้อง 150 บาท และค่าส่งคำบังคับ 210 บาท มานั้น จึงต้องสั่งคืนให้แก่โจทก์ สำหรับค่าส่งหมายเรียกสำเนาฟ้อง ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้สั่งคืนให้แก่โจทก์แล้ง คงเหลือค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและค่าส่งคำบังคับรวม 410 บาท เห็นสมควรสั่งคืนให้แก่โจทก์เสียด้วย

พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและค่าส่งคำบังคับรวม 410 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ด. ผู้บริโภคกับจำเลย เป็นปัญหาพิพาทเกี่ยวกับโครงการบ้านจัดสรรของจำเลยซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองบริโภคโจทก์เคยประชุมและมีมติไว้แล้วว่า การกระทำของจำเลยที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้บริโภคจำนวน 9 รายในโครงการดังกล่าวของจำเลย เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคเหล่านั้น เมื่อ ด. ยื่นเรื่องราวต่อโจทก์อันเป็นปัญหาพิพาทในโครงการเดียวกันของจำเลย เป็นเรื่องในลักษณะเดียวกับที่โจทก์เคยมีมติไว้แล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องนำเรื่องราวของ ด. เข้าประชุมอีก เนื่องจากโจทก์ได้มีมติไว้แล้วว่าในการดำเนินคดีแก่จำเลยนั้นให้รวมถึงผู้บริโภครายอื่นที่จะมาร้องเรียนเพิ่มเติมในลักษณะเดียวกันในภายหลังด้วย การฟ้องร้องของโจทก์ในคดีนี้จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 (1) (7) และมาตรา 39

สัญญาจะซื้อจะขายมิได้กำหนดเวลาการเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาการก่อสร้างแล้วเสร็จไว้ แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยต้องรีบลงมือก่อสร้างและก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควรอันเป็นไปตามหลักสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 มิใช่ขึ้นอยู่กับความพอใจจำเลยว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อใดก็ได้ แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องรีบลงมือก่อสร้างโดยพลันตามมาตรา 203 เมื่อ ด. ผู้บริโภคได้ชำระเงินแก่จำเลยเป็นจำนวนถึง 130,000 บาท แต่จำเลยยังมิได้เริ่มลงมือก่อสร้างบ้าน ด. จึงมีสิทธิที่จะไม่ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยได้เนื่องจากเป็นสัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 ดังนั้น การที่ ด. ไม่ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยตั้งแต่งวดที่ 6 เป็นต้นไป ด. จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา

การดำเนินคดีในศาลของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2422 มาตรา 39 วรรคสอง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นค่าส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้อง และค่าส่งคำบังคับ ซึ่งเป็นค่าฤชาธรรมเนียมที่ชำระมาให้แก่โจทก์