การค้ำประกันการก่อสร้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

การค้ำประกันการก่อสร้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 503/2543

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด โจทก์ที่ 2เป็นกรรมการ มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด มีวัตถุประสงค์ทำสัญญาค้ำประกันต่าง ๆ แก่บุคคลทั่วไป โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการ และจำเลยที่ 3 เป็นสมุห์บัญชีเป็นกรรมการมีอำนาจลงนามร่วมกันประทับตราสำคัญของบริษัทผูกพันจำเลยที่ 1 ได้เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2538 โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาบริษัทดอกคูนแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด ก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันของโจทก์เป็นเงินค่าจ้าง 2,500,000 บาท ต่อมาบริษัทดอกคูนแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด ปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญา หลังจากนั้นบริษัทดอกคูนแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด ยอมรับผิดตามสัญญาและขอทำการก่อสร้างต่อไป โดยยินยอมแก้ไขข้อความในสัญญาดังกล่าวใหม่ ดังนั้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2539 โจทก์กับบริษัทดอกคูนแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด จึงตกลงทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขสัญญาบางข้อ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2539 จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและตัวแทนจำเลยที่ 1 ลงชื่อร่วมกับจำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและตัวแทนจำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันการก่อสร้างของบริษัทดอกคูนแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด ไว้ต่อโจทก์จำนวนเงิน 125,000 บาท ต่อมาบริษัทดอกคูนแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด ผิดสัญญาฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2539 โดยดำเนินการก่อสร้างงานงวดที่ 1 ผิดพลาดบกพร่องและล่าช้าไม่เสร็จทันกำหนดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับบริษัทดอกคูนแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม 2539 โจทก์ทำหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบว่า บริษัดอกคูนแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัดเป็นฝ่ายผิดสัญญา และโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2539 บริษัทดอกคูนแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด ขอให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันเพื่อค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาให้ไว้แก่โจทก์ที่ 1 เพื่อให้ปฏิบัติตามสัญญาฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2538 ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2539 ซึ่งยังไม่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างเหมาโจทก์ที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับบริษัทดอกคูนแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2538 เท่านั้น ไม่มีผลที่จะต้องค้ำประกันตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2539 ด้วย เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาต่อกันแล้ว คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามกฎหมาย ประกอบกับบริษัทดอกคูนแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด แจ้งให้จำเลยที่ 1 ระงับการจ่ายเงินตามสัญญาค้ำประกัน เพราะโจทก์ที่ 1 บอกเลิกสัญญาโดยไม่สุจริต

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในทางการค้าของจำเลยที่ 1 มิได้กระทำในฐานะส่วนตัว การลงนามในสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงนามแทนจำเลยที่ 1 ตามขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัว

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องเรียกบริษัทดอกคูนแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม

จำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมชำระเงิน 125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 และให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยทั้งสาม

โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.9 ต่อโจทก์ที่ 1 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2538 โจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยร่วมก่อสร้างสถานีบริการน้ำมัน ปรากฏตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันเอกสารหมาย จ.3 โดยมีจำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2538 ปรากฏตามสัญญาค้ำประกันของธนาคารเอกสารหมาย จ.9 ต่อมาจำเลยร่วมไม่ปฏิบัติตามสัญญาโจทก์ที่ 1 จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยร่วมต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2539 โจทก์ที่ 1 กับจำเลยร่วมได้ทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันกันใหม่ โดยเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาเริ่มต้นการก่อสร้างใหม่และกำหนดระยะเวลาก่อสร้างเป็น 5 งวดปรากฏตามบันทึกข้อความแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาจำเลยร่วมผิดสัญญาอีก และโจทก์ที่ 1 บอกเลิกสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2539 ดังนี้ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2538 ต่อโจทก์ที่ 1 เมื่อจำเลยร่วมผิดสัญญา และโจทก์ที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันฉบับลงวันที่ 20มกราคม 2538 แล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ต่อโจทก์ที่ 1 แต่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องเอากับจำเลยที่ 1 กลับปรากฏต่อมาว่าในวันที่ 29 มกราคม 2539 โจทก์ที่ 1 กับจำเลยร่วมมาตกลงทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันกันใหม่ ซึ่งในการที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยร่วมทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันกันใหม่นี้ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ และจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2539 ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ที่ 1 เมื่อปรากฏว่าจำเลยร่วมผิดสัญญาอีกโจทก์ที่ 1 จะอาศัยสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2539 มาฟ้องร้องบังคับตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งค้ำประกันสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2538 หาได้ไม่จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.9 ต่อโจทก์ที่ 1

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

สรุป

โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยร่วมก่อสร้างสถานีบริการน้ำมัน โดยมีจำเลยที่ 1ทำสัญญาค้ำประกัน ต่อมาจำเลยร่วมไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยร่วม หลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยร่วมได้ทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันกันใหม่ โดยเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาเริ่มต้นการก่อสร้างใหม่ และกำหนดระยะเวลาก่อสร้างเป็น 5 งวด โดยโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบและจำเลยที่ 1ก็ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันฉบับหลังจำเลยที่ 1 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ แม้จำเลยร่วมผิดสัญญาฉบับหลังและโจทก์บอกเลิกสัญญาฉบับหลังแล้วก็ตาม โจทก์จะอาศัยสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันฉบับหลังมาฟ้องร้องบังคับตามสัญญาค้ำประกันสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันฉบับแรกที่จำเลยที่ 1 ทำไว้หาได้ไม่