การกำหนดระยะเวลาในการบอกเลิกสัญญา ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

การกำหนดระยะเวลาในการบอกเลิกสัญญา ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5366/2533

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2543 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 77,061.93 บาท และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันของต้นเงิน 1,280,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 1,280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินนับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จก่อนเลิกสัญญาหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ โจทก์ว่าจ้างจำเลยก่อสร้างบ้านในราคา 2,225,000 บาท กำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม 2543 โดยก่อสร้างบ้านตามรูปแบบแปลนของบริษัทเมย์ 37 จำกัด โจทก์ได้จ่ายเงินค่าก่อสร้างบ้านให้แก่จำเลยรวม 4 งวด เป็นเงิน 2,050,000 บาท จำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จ จำเลยมีปัญหาทางการเงินที่จะดำเนินการก่อสร้างบ้านให้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์ยินดีให้จำเลยเสนอแผนการเงินในการซื้อวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้าง ค่าแรงงาน และกำหนดงวดงานที่จะขอให้โจทก์พิจารณาให้จำเลยกู้ยืมเงินเพื่อก่อสร้างบ้านให้เสร็จ โดยจำเลยจะเสนอรายการให้โจทก์พิจารณาภายใน 7 วัน นับแต่วันทำบันทึกดังกล่าว เห็นว่า จำเลยรับจ้างก่อสร้างบ้านให้แก่โจทก์ในราคา 2,225,000 บาท และได้รับค่าจ้างจากโจทก์แล้ว 2,050,000 บาท คงเหลืออีกเพียง 175,000 บาท แม้ตามบันทึกไม่ได้กำหนดระยะเวลาก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จและจำเลยได้เสนอแผนการเงินแก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่พิจารณาให้จำเลยกู้ยืมเงินก็ตาม จำเลยก็มีหน้าที่ต้องก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ ทั้งที่อ้างว่าได้ก่อสร้างบ้านใกล้แล้วเสร็จคิดเป็นร้อยละ 85 ของงานทั้งหมดโดยเสียค่าวัสดุ ค่าแรงงานก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 1,890,000บาท โดยไม่รวมกำไรไม่ใช่คิดมูลค่างานได้เพียง 770,000 บาท แต่จำเลยก็ไม่ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ หรือดำเนินการประการใดที่แสดงว่าจำเลยจะก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ ทั้งตามแผนการเงินที่จำเลยเสนอต่อโจทก์สำหรับรายการงานส่วนที่เหลือจะต้องใช้เงินถึง 1,455,000 บาท และจำเลยก่อสร้างบ้านได้เพียงโครงสร้างบางส่วน แต่โจทก์ต้องชำระค่าก่อสร้างส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยอีกเพียง 175,000 บาท ย่อมเห็นได้โดยชัดแจ้งว่าจำเลยไม่สามารถก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามสัญญา จะทิ้งงานไม่ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จต่อไป และผิดสัญญาโจทก์ชอบที่จะเลิกสัญญาโดยไม่จำต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างว่ารายการค่าจ้างเพื่อก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จไม่ถูกต้องประการใด เพียงแต่อ้างว่าเอกสารหมาย จ.5 เป็นหนังสือที่นายดอกบัวเสนอราคาต่อโจทก์เพื่อรับงานต่อจากจำเลย จำนวนเงินที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวจึงสูงกว่าปกติ ทั้งจำเลยเคยเสนอค่าใช้จ่ายสำหรับรายการงานส่วนที่เหลือ เพียงแต่อ้างว่าตัวเลขที่ปรากฏในเอกสารเป็นเพียงตัวเลขที่จัดทำขึ้นเพื่อขอความช่วยเหลือจากโจทก์ไม่เกี่ยวกับมูลค่างานที่ได้ก่อสร้างไปแล้วหรือมูลค่างานในส่วนที่เหลือ ซึ่งไม่อาจรับฟังได้ การที่จำเลยไม่สามารถก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ จึงน่าเชื่อว่าจะต้องใช้เงินจำนวนดังกล่าวในการก่อสร้าง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยชำระค่าจ้างที่จำเลยรับเกินไป 1,280,000 บาท คืนแก่โจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์

สรุป

แม้อุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าบางประการมิใช่ความผิดของโจทก์ แต่ก่อนครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาฉบับแรก โจทก์กับจำเลยที่ 1ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดังกล่าวครั้งที่ 1 มีการลดเวลาการก่อสร้างลงอีก 5 วัน และขณะนั้นเหลือเวลาอีกเพียง 14 วัน ก็จะถึงกำหนดเวลาที่แก้ไขใหม่ แต่โจทก์กลับยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวโดยดี และต่อมาเมื่อมีการทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดังกล่าวครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ทำการก่อสร้างตามสัญญาดังกล่าวเสร็จแล้ว สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับหลังเพิ่มเวลาก่อสร้างเพียง 3 วันโจทก์ย่อมต้องทราบแล้วว่าระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นนั้นน้อยกว่าเวลาที่โจทก์ใช้จริงมาก และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 หักค่าปรับจากเงินค่าจ้างแต่ละงวดที่จ่ายให้โจทก์ไปแล้วเป็นจำนวนมาก แต่โจทก์กลับยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฉบับแรกครั้งที่ 2 โดยดีอีกเช่นกัน ส่วนการก่อสร้างตามสัญญาฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นการก่อสร้างต่อเนื่องจากสัญญาฉบับแรก กำหนดไว้ว่าต้องลงมือก่อสร้างหลังจากทำการก่อสร้างตามสัญญาฉบับแรกไปแล้ว 170 วัน และปรากฏว่าการก่อสร้างตามสัญญาฉบับนี้ล่าช้ากว่ากำหนดเช่นเดียวกับสัญญาฉบับแรกแม้น่าเชื่อว่าอุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างตามสัญญาฉบับแรกล่าช้ามีผลทำให้การก่อสร้างตามสัญญาฉบับหลังล่าช้าไปด้วยแต่เมื่อมีการทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฉบับหลังครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ทำการก่อสร้างตามสัญญาฉบับหลังเสร็จแล้ว สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเพิ่มเวลาการก่อสร้างให้โจทก์อีกเพียง 127 วัน โจทก์ย่อมต้องทราบแล้วว่าระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นนั้นน้อยกว่าเวลาที่โจทก์ใช้จริงมาก และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 หักค่าปรับจากเงินค่าจ้างแต่ละงวดที่จ่ายให้โจทก์ไปเป็นจำนวนมาก แต่โจทก์ยังคงยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวอีกเช่นกัน พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมรับกำหนดเวลาสิ้นสุดในสัญญาทุกฉบับที่ทำกับจำเลยที่ 1 และไม่ติดใจเงินค่าปรับที่ต้องถูกหักจากค่าจ้างตามสัญญา โจทก์จึงต้องผูกพันตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาทั้งสองฉบับและไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าปรับที่จำเลยที่ 1 หักไว้