หลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างทำของ

หลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างทำของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2546

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยตรวจซ่อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 5 เครื่อง เป็นเงิน 888,100 บาท โดยมีกำหนดระยะเวลา 120 วัน หากจำเลยไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จตามกำหนด จะต้องชำระค่าปรับให้แก่โจทก์วันละ 888.10 บาท ค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานกรณีโจทก์ต้องว่าจ้างผู้ควบคุมงานอีกต่อหนึ่งวันละ 100 บาท แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่สามารถซ่อมแซมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดังกล่าวได้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยและแจ้งให้จำเลยชำระค่าปรับ สงวนสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายกรณีที่โจทก์ต้องจ้างผู้รับจ้างรายอื่นทำงานตามสัญญาใหม่ในราคาที่แพงขึ้นรวมทั้งริบหลักประกันสัญญาตามหนังสือค้ำประกันธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาคลองจั่น และให้จำเลยส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่จำเลยนำไปซ่อมคืนโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัทเจริญกรุงเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ดำเนินการแทนโดยเสียค่าจ้างไปเป็นเงิน1,275,000 บาท และได้ชำระเงินให้แก่บริษัทดังกล่าวไปแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับให้แก่โจทก์ เป็นเงิน 267,318.10 บาท ค่าใช้จ่ายในการควบคุมงาน 30,100 บาทส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโจทก์ 81 ชิ้น คืนแก่โจทก์ ถ้าคืนไม่ได้ให้ชดใช้เป็นเงิน 69,266.45 บาท และค่าเสียหายที่โจทก์ต้องว่าจ้างบริษัทเจริญกรุงเอ็นจิเนียริ่งจำกัด ในราคาที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมจำนวน 386,900 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 753,584.55บาท โจทก์ทวงถามจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 843,112.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 753,584.55 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 502,061.45 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 342,495 บาท นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์2540 และในอัตราเดียวกันจากต้นเงิน 69,266.45 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2539เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 2 เมษายน 2541)ต้องไม่เกิน 89,527.61 บาท

 

โจทก์อุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากต้นเงิน 342,495 บาท และจากต้นเงิน 69,266.45 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 2 เมษายน 2541)เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

โจทก์ฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2537 โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยตรวจซ่อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารวม 5 เครื่อง ในราคา888,100 บาท กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน โดยเริ่มทำงานภายในวันที่ 6 มกราคม 2538 ได้ทำสัญญากันไว้ตามเอกสารหมาย จ.17 หลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยผิดสัญญาไม่สามารถซ่อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้โจทก์แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาและให้จำเลยชำระค่าเสียหาย แต่จำเลยไม่ชำระ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าจำเลยจะต้องชำระค่าปรับให้แก่โจทก์ในอัตราวันละ888.10 บาท ตามสัญญาหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยสมัครใจทำสัญญากับโจทก์โดยยอมเสียค่าปรับวันละ 888.10 บาท และค่าปรับในอัตราดังกล่าวก็มิได้เป็นจำนวนเงินที่สูงเกินควรแต่อย่างใด ทั้งเป็นอัตราที่กำหนดขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยนั้น เห็นว่า แม้ในสัญญาว่าจ้างจะระบุให้จำเลยชำระค่าปรับแก่โจทก์ในอัตราวันละ 888.10 บาท เมื่อจำเลยผิดสัญญาตามสัญญาว่าจ้างข้อ 15 ก็ตาม แต่ค่าปรับดังกล่าวก็เป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่งที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าในสัญญากรณีอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา แต่หากเบี้ยปรับกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าหลังจากจำเลยผิดสัญญาไม่สามารถซ่อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้เสร็จทันตามสัญญาโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์วันละ 300 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

ที่โจทก์ฎีกาต่อมาว่า โจทก์มีสิทธิริบเงินประกันจำนวน 44,405 บาท ที่ธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาคลองจั่น ส่งมาให้ในฐานะผู้ค้ำประกันทันที เพราะเป็นเงินที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา ตามสัญญาว่าจ้างข้อ 3 ซึ่งเป็นค่าเสียหายอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลนำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักออกจากค่าเสียหายอื่นจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามสัญญาข้อ 3 ระบุว่า ในขณะทำสัญญานี้ผู้รับจ้างได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันความรับผิดตามสัญญานี้ของธนาคารทหารไทยจำกัด ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2537 ภายในวงเงินร้อยละห้าของเงินค่าจ้างตามสัญญาเป็นเงิน 44,405 บาท มามอบให้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญานี้ดังนี้เงินตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว จึงมิใช่เงินที่จำเลยมอบให้โจทก์ทันทีขณะทำสัญญาแต่เป็นเพียงหลักประกันเบื้องต้นเพื่อที่จะให้โจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยจะปฏิบัติตามสัญญา และหากจำเลยผิดสัญญาโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายอย่างน้อยก็คือเงินที่เป็นหลักประกันนั่นเอง เงินตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่เงินที่โจทก์จะริบได้ทันทีเมื่อจำเลยผิดสัญญา แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญาที่โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอื่นอีก จึงต้องนำเงินที่ธนาคารส่งมาไปหักกับค่าเสียหายนั้นก่อนในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380วรรคสอง ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองให้นำเงินหลักประกันจำนวนดังกล่าวไปหักออกจากค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจำนวน 386,900 บาท จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

ที่โจทก์ฎีกาต่อมาอีกว่า ที่ศาลไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนค่าคุมงานวันละ 100บาท รวม 301 วัน เป็นเงิน 30,100 บาทให้โจทก์ไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้ในสัญญาข้อ 15จะระบุว่า หากผู้รับจ้างผิดสัญญาไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และผู้ว่าจ้างยังมิได้บอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างและจะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานในเมื่อผู้ว่าจ้างต้องจ้างผู้ควบคุมงานอีกต่อหนึ่งก็ตาม แต่ค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานเป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่ง ซึ่งโจทก์จะต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่าโจทก์เสียหายอย่างไรเพียงใด เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าหลังจากจำเลยผิดสัญญาและโจทก์ยังมิได้บอกเลิกสัญญาโจทก์เสียหายอย่างไร และได้จ้างผู้ใดมาควบคุมงาน ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

 

พิพากษายืน

สรุป

สัญญาที่โจทก์จ้างจำเลยตรวจซ่อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระบุว่า “ในขณะทำสัญญาผู้รับจ้าง (จำเลย) ได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันความรับผิดตามสัญญาของธนาคาร ท. ภายในวงเงินร้อยละห้าของเงินค่าจ้างตามสัญญาเป็นเงิน 44,405 บาทมอบให้แก่ผู้ว่าจ้าง (โจทก์) เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา” ดังนั้น เงินตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่เงินที่จำเลยมอบให้โจทก์ทันทีขณะทำสัญญา แต่เป็นเพียงหลักประกันเบื้องต้นเพื่อที่จะให้โจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยจะปฏิบัติตามสัญญา และหากจำเลยผิดสัญญาโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายอย่างน้อยก็คือเงินที่เป็นหลักประกันนั่นเอง เงินตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่เงินที่โจทก์จะริบได้ทันทีเมื่อจำเลยผิดสัญญา แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญาที่โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอื่นอีก กรณีต้องนำเงินที่ธนาคาร ท. ส่งมาไปหักกับค่าเสียหายนั้นก่อนในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอ