บอกถอนการเลิกสัญญาทำได้หรือไม่

บอกถอนการเลิกสัญญาทำได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1900/2542

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเคยเป็นพนักงานของโจทก์ตำแหน่งผู้จัดการ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยได้ยื่นหนังสือลาออกและโจทก์อนุมัติแล้ว ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยได้ยื่นหนังสือขอรับค่าชดเชย คณะกรรมการของโจทก์มีมติให้จ่ายค่าชดเชยจำนวน 61,500 บาท แก่จำเลย เมื่อจ่ายเงินแล้วโจทก์มีหนังสือหารือไปยังสหกรณ์จังหวัดปัตตานี ได้รับแจ้งว่ากรณีของโจทก์มิใช่การเลิกจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย หากมีการจ่ายแล้วขอให้ทบทวนมติ และหากเห็นว่าไม่ถูกต้องให้เรียกเงินคืนจากจำเลย คณะกรรมการของโจทก์จึงได้ประชุมและมีมติยกเลิกมติที่ให้จ่ายค่าชดเชยพร้อมทั้งให้เรียกเงินคืนจากจำเลย จำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 61,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับค่าชดเชยไปจากโจทก์โดยสุจริตและคณะกรรมการของโจทก์พิจารณาอนุมัติแล้ว โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนในฐานะลาภมิควรได้ แต่ในวันที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนเงินนั้น เงินดังกล่าวไม่มีเหลืออยู่ที่จำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 เมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ของโจทก์มีความเห็นว่ามติของคณะกรรมการชุดเดิมไม่ชอบ คณะกรรมการชุดเดิมต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว การที่จำเลยได้ยื่นหนังสือลาออก แต่ในวันรุ่งขึ้นก่อนโจทก์อนุมัติการลาออกจำเลยได้ระงับการลาออกแล้วคณะกรรมการของโจทก์ได้อนุมัติให้จำเลยลาออกตามหนังสือที่ยื่นไว้เดิม จึงเป็นการเลิกจ้าง จำเลยมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเข้าทำงานเป็นพนักงานของโจทก์เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2539 ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 20,500 บาท เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงาน แม้จะยื่นหนังสือระงับการลาออกในภายหลัง แต่เมื่อคณะกรรมการของโจทก์ไม่อนุมัติในหนังสือระงับการลาออกจึงถือว่าหนังสือลาออกยังมีผลอยู่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยการที่จำเลยรู้ว่าตนไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย แต่กลับยื่นขอต่อโจทก์และได้รับไปแล้วเป็นการแสดงเจตนาไม่สุจริต จำเลยต้องคืนค่าชดเชยที่รับไว้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงิน 61,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่าเดิมจำเลยยื่นหนังสือลาออก แต่เมื่อจำเลยกลับใจโดยยื่นหลังยกเลิกการลาออกก่อนที่คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์จะพิจารณาหนังสือลาออกของจำเลย หนังสือลาออกของจำเลยจึงย่อมเป็นอันสิ้นผลไปทันที เท่ากับไม่มีการขอลาออกแล้ว เมื่อคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ไม่อนุญาตให้ระงับการลาออกแต่กลับไปพิจารณาให้ลาออกตามหนังสือลาออกที่สิ้นผลไปแล้ว เท่ากับเป็นการให้ออกอันหมายถึงการเลิกจ้างนั้น เห็นว่า ลูกจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาจ้างได้ดำเนินการลาออกจากงาน และหลังจากลูกจ้างแสดงเจตนาลาออกจากงานแก่นายจ้างแล้ว ลูกจ้างหามีสิทธิถอนเจตนานั้นได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคสอง ปรากฏว่าจำเลยยื่นหนังสือขอลาออกจากงานต่อโจทก์เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 โดยระบุให้การลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2540 เช่นนี้ถือว่าการแสดงเจตนาลาออกจากงานของจำเลยมีผลตามกฎหมายแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือขอลาออก แม้ต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยได้ยื่นหนังสืออีกฉบับหนึ่งต่อโจทก์ขอยกเลิกหนังสือขอลาออกจากงานดังกล่าว ก็หามีผลเป็นการยกเลิกหนังสือขอลาออกจากงานไม่ หนังสือขอลาออกจากงานของจำเลยยังคงมีผลต่อไป เมื่อโจทก์มีระเบียบว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง พ.ศ. 2538 หมวด 9 ข้อ 39 กำหนดว่า พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดประสงค์จะลาออกจากงาน ให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตนเพื่อเสนอตามลำดับจนถึงคณะกรรมการดำเนินการเมื่อคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาอนุญาตแล้วจึงให้ถือว่าออกจากงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างที่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์และจำเลยได้ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์โจทก์พิจารณาอนุมัติหนังสือขอลาออกจากงานของจำเลยในการประชุม วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่หนังสือขอลาออกมีผล การลาออกจากงานของจำเลยจึงมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปตามที่จำเลยประสงค์ การที่จำเลยต้องออกจากงานหาใช่เพราะถูกโจทก์เลิกจ้างไม่โจทก์ย่อมไม่มีหน้าที่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลย ที่โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยเนื่องจากจำเลยลาออกจากงานจึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระโจทก์หามีสิทธิเรียกค่าชดเชยคืนจากจำเลยไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

สรุป

ลูกจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาจ้างได้ด้วยการลาออกจากงานและหลังจากลูกจ้างแสดงเจตนาลาออกจากงานแก่นายจ้างแล้วลูกจ้างหามีสิทธิถอนเจตนานั้นได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคสอง เมื่อจำเลย ยื่นหนังสือขอลาออกจากงานต่อโจทก์ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540โดยระบุให้การลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2540 ถือว่าการแสดงเจตนาลาออกจากงานของจำเลยมีผลตามกฎหมายแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือขอลาออกแม้ต่อมาวันที่21 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยได้ยื่นหนังสืออีกฉบับหนึ่งต่อโจทก์ขอยกเลิกหนังสือขอลาออกจากงานดังกล่าว ก็หามีผลเป็นการยกเลิกหนังสือขอลาออกจากงานไม่หนังสือขอลาออกจากงาน ของจำเลยยังคงมีผลต่อไป ทั้งโจทก์มีระเบียบว่าด้วยพนักงาน และลูกจ้างที่กำหนดว่า พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดประสงค์ จะลาออกจากงาน ให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้บังคับบัญชา โดยตรงของตนเพื่อเสนอตามลำดับจนถึงคณะกรรมการดำเนินการ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาอนุญาตแล้วจึงให้ถือว่า ออกจากงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างที่มีผลใช้บังคับ แก่โจทก์และจำเลยได้ ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการดำเนินการ ของสหกรณ์โจทก์พิจารณาอนุมัติหนังสือขอลาออกจากงานของจำเลย ในการประชุมวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ หนังสือขอลาออกมีผล การลาออกจากงานของจำเลยจึงมีผล ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป การที่จำเลยต้องออก จากงานหาใช่เพราะถูกโจทก์เลิกจ้างไม่ โจทก์ย่อมไม่มีหน้าที่ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลย แต่การที่โจทก์จ่าย ค่าชดเชยให้แก่จำเลยเนื่องจากจำเลยออกจากงานอันถือเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ โจทก์จึงหามีสิทธิเรียกค่าชดเชยคืนจากจำเลยไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407