อยู่ระหว่างต่อราคารับเหมาก่อสร้าง ถือว่าสัญญาเกิดหรือยัง

อยู่ระหว่างต่อราคารับเหมาก่อสร้าง ถือว่าสัญญาเกิดหรือยัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3827/2552

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2540 โจทก์ทำสัญญาซื้อหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์สีน้ำเงิน ขนาด 36 วัตต์ จำนวน 18,360 หลอด และขนาด 18 วัตต์ จำนวน 4,320 หลอด จากจำเลยในราคา 4,455,000 บาท จำเลยตกลงขายโดยมีกำหนดส่งมอบให้โจทก์ประมาณกลางเดือนเมษายน 2541 เป็นการสั่งซื้อล่วงหน้าเป็นเวลา 6 เดือน มีกำหนดชำระค่าสินค้าภายใน 90 วัน นับแต่รับสินค้า หลังทำสัญญาซื้อขายแล้วจำเลยผิดสัญญา โดยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2541 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาซื้อขายกับโจทก์โดยอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ เนื่องจากค่าเงินบาทลอยตัวทำให้ราคาต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ซึ่งในสัญญาได้ระบุให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาในกรณีนี้ได้ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ไม่ได้รับสินค้าตามกำหนด โดยโจทก์ต้องนำส่งสินค้าดังกล่าวให้ลูกค้าของโจทก์อีกทอดหนึ่ง ซึ่งการขายจะทำได้ในช่วงก่อนฤดูฝนเพื่อใช้ดักแมลง โจทก์ไม่สามารถหาสินค้าจากบริษัทอื่นมาทดแทนได้ทันกำหนดที่จะต้องส่งมอบให้ลูกค้าโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายขาดรายได้และผลประโยชน์จากค่าขายสินค้า หากโจทก์ขายสินค้าได้ทั้งหมดจะได้กำหนดจะได้กำไรไม่น้อยกว่า 1,782,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 178,200 บาท และการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงในทางการค้า ลูกค้าหมดความเชื่อถือโจทก์คิดเป็นเงิน 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,960,200 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,960,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,782,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยติดต่อค้าขายกันมาหลายครั้ง โดยจำเลยประกอบธุรกิจค้าขายหลอดไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า โจทก์ไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ขายสินค้าให้ใครอย่างไร ในราคาใด เหตุใดมีกำไรเป็นจำนวน 1,782,000 บาท และหน้าฝนคือเมื่อใด ไม่มีข้ออ้างใดในคำฟ้องโจทก์ที่ทำให้จำเลยเข้าใจได้ ไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่าโจทก์เสียชื่อเสียงทางการค้าอย่างไร ลูกค้าโจทก์รายใดที่ขาดความเชื่อถือโจทก์ เหตุใดค่าเสียหายส่วนนี้ถึงกำหนดเป็นค่าเงินได้ถึง 1,000,000 บาท คิดจากอะไรเป็นเกณฑ์ การคำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คิดโดยอาศัยอำนาจใดและโจทก์เสียชื่อเสียงในทางการค้าเพราะจำเลยอย่างไร หากลูกค้าโจทก์หมดความเชื่อถือทางการค้ากับโจทก์เป็นเพราะโจทก์เอง ไม่เกี่ยวกับจำเลย ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จำเลยขายสินค้าให้โจทก์หลายครั้งและทุกครั้งที่ตกลงขายจำเลยจะมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยหรือกรรมการผู้มีอำนาจจะสั่งการให้พนักงานของจำเลยส่งสินค้า หากยังไม่มีสินค้าที่จะขายให้ลูกค้าจำเลยจะให้ลูกค้าวางเงินมัดจำ จำเลยยังไม่ได้ตกลงขายสินค้าตามฟ้องให้โจทก์ โจทก์ซื้อสินค้าจากจำเลยครั้งสุดท้ายซึ่งจำเลยส่งสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระค่าสินค้างวดดังกล่าวเป็นเงิน 580,000 บาท จึงให้สิทธิโดยไม่สุจริตเรียกค่าเสียหายเป็นคดีนี้ และขอใช้สิทธิหักกลบลบหนี้กับจำเลย จำเลยไม่เคยตกลงขายหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์สีน้ำเงินตามฟ้องเนื่องจากกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยไม่เคยทำหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อขายสินค้าให้โจทก์ตามฟ้อง โจทก์ไม่ได้วางเงินมัดจำค่าสินค้าและชำระราคา ทั้งจำเลยไม่ได้ส่งสินค้าให้โจทก์ โจทก์ยังค้างชำระค่าสินค้าที่จำเลยขายให้โจทก์ครั้งสุดทาย ซึ่งจำเลยได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 17558/2541 เรียกเงินค่าสินค้า 580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และโจทก์ประสงค์ที่จะไม่ชำระเงินค่าสินค้าดังกล่าวจึงใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนำคดีมาฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใดๆ จากจำเลย การที่จำเลยจะขายสินค้าให้ลูกค้าต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างเป็นข้อพิจารณา ที่สำคัญคือความสมัครใจที่จะขายสินค้า คุณสมบัติของลูกค้าที่จะขายด้วย และปัจจัยสภาวะเศรษฐกิจที่จะส่งผลให้จำเลยประกอบธุรกิจได้ในสภาวะถดถอย และการที่ประชาคมโลกประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าเงินสกุลต่างๆ รวมทั้งเงินบาทมีค่าน้อยส่งผลกระทบแก่จำเลยเนื่องจากราคาสินค้าสูงขึ้น จำเลยพยายามฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อให้ธุรกิจดำรงอยู่ได้ แต่โจทก์ฉวยโอกาสใช้สิทธิไม่สุจริตเพื่อประโยชน์ของตน ไม่รับข้อเสนอที่เหมาะสมพอเพียงทำให้จำเลยต้องยุติค้าขายกับโจทก์อันไม่ใช่ความผิดของจำเลย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมานั้นไม่ได้เป็นค่าเสียหายที่แท้จริง โจทก์ยังไม่มีความเสียหายใดๆ เพราะยังไม่ได้ขายสินค้าให้ลูกค้า ทั้งไม่มีทางที่จะขายสินค้าได้กำไรถึง 1,782,000 บาท ส่วนค่าเสียหายที่เสียชื่อเสียงทางการค้านั้น โจทก์จะเสียหายมาก่อนหรือไม่จำเลยไม่ทราบ แต่จำเลยไม่เกี่ยวข้องจึงไม่ต้องรับผิดในส่วนนี้เช่นกัน นอกจากนี้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามทางนำสืบของคู่ความที่ไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2540 โจทก์สั่งซื้อหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์สีน้ำเงินจากจำเลยไปจำหน่ายต่อให้ลูกค้าของโจทก์เพื่อใช้ในการดักแมลงในฤดูฝนโดยขอซื้อหลอดไฟขนาด 36 วัตต์ จำนวน 18,360 หลอด ราคาหน่วยละ 190 บาท และขนาด 18 วัตต์ จำนวน 4,320 หลอด ราคาหน่วยละ 130 บาท เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 4,455,000 บาท กำหนดส่งสินค้ากลางเดือนเมษายน 2541 และกำหนดชำระราคา 90 วัน ตาม Sales contract (สัญญาซื้อขาย) พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ตามลำดับ โดยเอกสารดังกล่าวจำเลยเป็นผู้จัดทำแล้วนายพุดตาน ผู้จัดการฝ่ายการตลาดแผนก 2 ของจำเลยซึ่งไม่ได้เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ในช่องบริษัทจำเลย จากนั้นโจทก์ลงชื่อในฐานะผู้ซื้อ ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2541 จำเลยโดยนายพุดตานถึงโจทก์ขอยกเลิก Sales contract ตามเอกสารหมาย จ.1 โดยอ้างว่าการประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัวของรัฐบาลทำให้ราคาต้นทุนสินค้าสูงขึ้นมากจนจำเลยไม่อาจขายสินค้าในราคาเดิมได้ และจำเลยได้เจรจากับโจทก์หลายครั้งแล้วแต่ไม่เป็นที่ตกลงตามหนังสือเอกสารหมาย จ.3

เมื่อคดีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยต่างฎีกาแต่ปัญหาตามฎีกาของจำเลยจะมีผลไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับค่าเสียหายตามฎีกาของโจทก์ จึงสมควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยก่อนว่า Sales contract (สัญญาซื้อขาย) ตามเอกสารหมาย จ.1 มีผลเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาสรุปใจความว่า สัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 จำนวนสินค้า ราคาและกำหนดเวลาเป็นการประมาณการทั้งสิ้น ต้องมีการตกลงกันอีกโดยเฉพาะราคาต้องเป็นไปตามอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาท ซึ่งการกำหนดราคาสินค้าถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาและสัญญาซื้อขายจะสมบูรณ์มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ต่อเมื่อนายมะหาด กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยได้ลงนามแล้ว ซึ่งยังมิได้ลงนามไว้ ทั้งการลงนามของนายพุดตานที่จะมีผลผูกพันจำเลยจะต้องมีการมอบอำนาจเป็นหนังสือจากจำเลยด้วย เอกสารหมาย จ.1 จึงไม่มีผลเป็นสัญญาซื้อขาย การที่จำเลยทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.3 ขอยกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.1 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญา จำเลยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายนั้น เห็นว่า เอกสารหมาย จ.1 แม้ใช้ถ้อยคำว่าเป็นสัญญาซื้อขาย แต่เงื่อนไขของสัญญาดังกล่าวข้อ 1 ระบุว่า จำนวนสินค้าที่ระบุไว้ในสัญญาเป็นการประมาณการเท่านั้น การปรับปรุงราคาสินค้าที่ต้องชำระจะคิดคำนวณตามจำนวนสินค้าที่แท้จริง และ ข้อ 3 มีใจความว่า วันกำหนดส่งสินค้า และ/หรือกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าตามที่ระบุในสัญญาเป็นการกำหนดวันที่โดยประมาณ เช่นนี้ จำนวนสินค้า ราคาและกำหนดเวลาส่งสินค้าซึ่งจะมีผลไปถึงกำหนดวันที่ต้องชำระเงินจึงหาได้กำหนดไว้แน่นอนไม่ โดยเฉพาะราคาสินค้านั้นทางนำสืบของโจทก์และจำเลยได้ความตรงกันว่า จำเลยได้ขอปรับขึ้นราคาสินค้าอีก โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยขอขึ้นราคาร้อยละ 30 ส่วนจำเลยอ้างว่าจำเลยขอขึ้นราคาร้อยละ 10 ซึ่งราคาที่จำเลยขอปรับขึ้นแตกต่างกันนี้หาใช่สาระสำคัญไม่ เพราะไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า จำเลยขอปรับราคาเท่าใด ซึ่งการขอปรับขึ้นราคานี้นายมะนาว กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เบิกความเป็นพยานโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยขอปรับขึ้นราคาร้อยละ 30 พยานขอให้จำเลยปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 5 แต่จำเลยไม่ยอม เช่นนี้แสดงว่าทั้งโจทก์และจำเลยมีการเจรจาโดยต่างเสนอข้อต่อรองเพื่อกำหนดราคาสินค้า เมื่อไม่ตกลงกันทำให้ราคาสินค้าไม่อาจกำหนดจำนวนที่แน่นอนได้ เช่นนี้ราคาสินค้าจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของสัญญาซื้อขายที่ยังไม่อาจตกลงกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้เงื่อนไขของสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 13 ระบุว่า การลงนามทั้งหลายจำมีผลสมบูรณ์เมื่อกรรมการผู้จัดการของจำเลยลงนามแล้วเท่านั้น แต่กรรมการผู้จัดการของจำเลยหาได้ลงนามใน Sales contract (สัญญาซื้อขาย) ตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่านายพุดตานลงนามในเอกสารดังกล่าวโดยได้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้จัดการของจำเลยแล้ว ดังนั้นสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เกิดขึ้นทำให้ Sales contract (สัญญาซื้อขาย) ตามเอกสารหมาย จ.1 หาได้มีผลเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ ทั้งการที่จำเลยทำเอกสารหมาย จ.3 เพื่อยกเลิก Sales contract (สัญญาซื้อขาย) หาได้ถือเป็นหลักฐานของสัญญาจะซื้อขายตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ซึ่งจำเลยสามารถทำเอกสารดังกล่าวได้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น และเมื่อฟังว่าไม่มีสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยเกิดขึ้นแล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับค่าเสียหายตามฎีกาของโจทก์อีกต่อไป”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท

สรุป

ตามสัญญาแม้ใช้ถ้อยคำว่าเป็นสัญญาซื้อขาย แต่เงื่อนไขของสัญญาดังกล่าวข้อ 1 ระบุว่า จำนวนสินค้าที่ระบุไว้ในสัญญาเป็นการประมาณการเท่านั้น การปรับปรุงราคาสินค้าที่ต้องชำระจะคิดคำนวณตามจำนวนสินค้าที่แท้จริง และข้อ 3 มีใจความว่า วันกำหนดส่งสินค้า และ/หรือกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าตามที่ระบุในสัญญาเป็นการกำหนดวันที่โดยประมาณ เช่นนี้ จำนวนสินค้า ราคาและกำหนดเวลาส่งสินค้าซึ่งจะมีผลไปถึงกำหนดวันที่ต้องชำระเงินจึงหาได้กำหนดไว้แน่นอนไม่โดยเฉพาะราคาสินค้านั้น ทั้งโจทก์และจำเลยมีการเจรจาโดยต่างเสนอข้อต่อรองเพื่อกำหนดราคาสินค้า เมื่อไม่ตกลงกันทำให้ราคาสินค้าไม่อาจกำหนดจำนวนที่แน่นอนได้ราคาสินค้าจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของสัญญาซื้อขายที่ยังไม่อาจตกลงกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้เงื่อนไขของสัญญา ข้อ 13 ระบุว่า การลงนามทั้งหลายจะมีผลสมบูรณ์เมื่อกรรมการผู้จัดการของจำเลยลงนามแล้วเท่านั้น แต่กรรมการผู้จัดการของจำเลยหาได้ลงนามใน Sales contract (สัญญาซื้อขาย) ไม่ทั้งไม่ปรากฏว่า ส. ลงนามในเอกสารดังกล่าวโดยไม่ได้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้จัดการของจำเลยแล้ว ดังนั้นสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยยังไม่เกิดขึ้น ทำให้ Sales contract (สัญญาซื้อขาย) หาได้มีผลเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยไม่