หลักการบอกเลิกสัญญาคดีก่อสร้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

หลักการบอกเลิกสัญญาคดีก่อสร้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 617/2538

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2529 จำเลยได้ว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้รับเหมาะทำการก่อสร้างอาคารชุมสายโทรศัพท์แม่สายจังหวัดเชียงรายของจำเลยในราคา 10,272,082 บาท แบ่งชำระค่าจ้างเป็น 9 งวด ตามผลงานที่โจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้าง ต่อมาเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2529 ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2530 โจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารชุมสายโทรศัพท์ดังกล่าวจนเสร็จตามสัญญาตั้งแต่งานงวดที่ 1 ถึงงานงวดที่ 7 และงานงวดที่ 8อีกร้อยละแปดสิบและงานงวดที่ 9 อีกบางส่วน งานงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 7โจทก์ได้ส่งมอบงานให้แก่จำเลยเรียบร้อยแล้ว ส่วนงานงวดที่ 8ร้อยละแปดสิบ และงานบางส่วนของงวดที่ 9 โจทก์ได้ทำการก่อสร้างงานให้จำเลยไปแล้วรวมเงินตามผลงานทั้งหมดจำนวน 8,027,082 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2530 โจทก์ได้ส่งมอบงานก่อสร้างที่เหลือคืนให้แก่จำเลยโดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้ถือว่าโจทก์คืนงานให้วันที่ 8กุมภาพันธ์ 2530 เป็นเหตุให้สัญญารับเหมาก่อสร้างเลิกกัน จำเลยได้ชำระเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาให้แก่โจทก์เป็นเงินเพียง6,676,853.30 บาท ยังค้างอยู่อีกเป็นเงิน 1,350,228.70 บาทตามผลงานที่โจทก์ได้ดำเนินการไปแล้วจนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2530โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ต่อมาจำเลยแจ้งแก่โจทก์ว่าจำเลยได้นำเงินค่าจ้างเหมาดังกล่าวหักชำระแทนผู้ค้ำประกันและนำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,027,208.20 บาทจึงยังมีเงินเหลืออยู่ที่จำเลยตามสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวอีก323,020.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 323,020.50 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า โจทก์ทำงานให้จำเลยถึงเพียงงวดที่ 7 เท่านั้นแล้วละทิ้งงานไม่ได้ทำงานงวดที่ 8 และที่ 9 จำเลยจึงไม่จำต้องจ่ายค่าจ้างงานงวดดังกล่าวให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ทิ้งงานถือได้ว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิปรับด้วยการริบเงินค่าจ้างเงินประกันได้ตามสัญญา ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน323,020.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบรับกันฟังยุติได้ว่า โจทก์ก่อสร้างอาคารชุมสายโทรศัพท์แม่สายจังหวัดเชียงราย เสร็จไม่ทันตามสัญญาจนโจทก์ต้องขอยกเลิกงานก่อสร้างส่วนที่ยังสร้างไม่เสร็จต่อจำเลยเอง โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต่อมาจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว ก่อนบอกเลิกสัญญาโจทก์ทำการก่อสร้างงานงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 7 เสร็จและจำเลยได้จ่ายเงินค่าจ้างทั้งเจ็ดงวดให้แก่ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างแทนโจทก์และจ่ายชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์แทนโจทก์ไปแล้ว สำหรับงานงวดที่ 8 โจทก์ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่าร้อยละ 80

ประเด็นข้อโต้เถียงคงมีแต่เพียงว่า หลังจากจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว มีผู้ชนะการประกวดราคาเข้ามารับจ้างเหมาก่อสร้างงานในงวดที่ 8 และที่ 9 ที่ค้างอยู่ต่อได้ในราคา2,245,000 บาท ทั้ง ๆ ที่เงินค่าจ้างตามสัญญาของงานทั้งสองงวดดังกล่าวเป็นเงินถึง 2,560,000 บาทเศษ ทำให้จำเลยมีเงินเหลือจ่ายสำหรับงานของงวดที่ 8 และที่ 9 จำนวน 323,020.50 บาท คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 323,020.50 บาท เป็นค่าก่อสร้างสำหรับงานงวดที่ 8และที่ 9 ให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์เรียกร้องหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้สัญญาจ้างเหมาะเลขที่ จ.25/(ช)2529 เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 21ระบุไว้ว่า “เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้วบรรดางานที่ผู้รับจ้างได้ทำขึ้น และสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้นำมาไว้ ณ สถานที่ทำงานจ้างนั้นโดยเฉพาะเพื่องานจ้างดังกล่าว ผู้รับจ้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้าง โดยผู้รับจ้างจะเรียกร้องค่าตอบแทนและค่าเสียหายใด ๆไม่ได้เลย และผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิระงับการจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระสำหรับงานที่ทำไปแล้วเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

ในกรณีที่ต้องจ้างบุคคลอื่นทำงานที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ หากปรากฏว่าเงินค่างานที่เหลือจ่ายไม่พอสำหรับการทำงานรายนี้เป็นจำนวนเท่าใด ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างหักเงินจำนวนนั้นจากค่าจ้างที่ค้างชำระตามวรรคหนึ่ง และยอมรับผิดชดใช้เงินจำนวนที่ยังขาดอยู่นั้นจนครบถ้วน

หากมีเงินค่าจ้างตามสัญญาที่หักไว้จ่ายเป็นค่าปรับและค่าเสียหายแล้วยังเหลืออยู่อีกเท่าใด ผู้ว่าจ้างจะคืนให้แก่ผู้รับจ้างทั้งหมด” จากข้อสัญญาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเมื่อผู้ว่าจ้างหรือจำเลยบอกเลิกสัญญาบรรดางานที่ผู้รับจ้างหรือที่โจทก์ได้ทำขึ้นหรือก่อสร้างไว้เพื่องานจ้างทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นงานที่ก่อสร้างเสร็จแล้วหรือไม่ก็ตามย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยสิ้นเชิงและโจทก์จะเรียกร้องค่าตอบแทนหรือค่าเสียหายใด ๆจากจำเลยไม่ได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์ก่อสร้างงานงวดที่ 8 และที่ 9ยังไม่เสร็จบริบูรณ์ตามสัญญา ในที่สุดโจทก์ได้คืนงานส่วนที่ยังสร้างไม่เสร็จแก่จำเลยและจำเลยได้บอกเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้วโจทก์จะเรียกเอาค่าจ้างสำหรับงานงวดที่ 8 และที่ 9 ซึ่งยังก่อสร้างไม่เสร็จจากจำเลยไม่ได้ สำหรับข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าเมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้ว จำเลยได้จัดการประกวดราคาก่อสร้างงานงวดที่ 8 และที่ 9 ใหม่ ทำให้ผู้ชนะการประกวดราคาใหม่ก่อสร้างงานทั้งงวดที่ 8 และที่ 9 ได้ถูกกว่าราคาเดิมคิดเป็นเงินจำนวน 323,020.50 บาท เงินจำนวนดังกล่าวศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นเงินค่าจ้างตามผลงานของโจทก์สำหรับงานงวดที่ 8 และที่ 9ที่จำเลยค้างจ่ายแก่โจทก์ จำเลยจะต้องจ่ายคืนแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างเหมา เลขที่ จ.25/(ช)2529 เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 21 วรรคท้ายซึ่งระบุไว้ว่า “หากมีเงินค่าจ้างตามสัญญาที่หักไว้จ่ายเป็นค่าปรับและค่าเสียหายแล้วยังเหลืออยู่อีกเท่าใด ผู้ว่าจ้างจะคืนให้แก่ผู้รับจ้างทั้งหมด” นั้น เห็นว่า ข้อความในสัญญาจ้างเหมาเลขที่ จ.25/(ช)2529 เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 21 วรรคท้าย ที่กล่าวถึงเรื่องหากมีเงินค่าจ้างตามสัญญาที่ผู้ว่าจ้างหรือจำเลยหักไว้เป็นค่าปรับและค่าเสียหายเหลืออยู่หลังจากจ้างบุคคลอื่นเข้าไปทำงานที่โจทก์ก่อสร้างค้างไว้จนเสร็จ จำเลยจะจ่ายเงินที่เหลืออยู่นั้นคืนให้แก่โจทก์ทั้งหมด เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเงินค่าจ้างสำหรับงานงวดที่โจทก์ได้ก่อสร้างเสร็จบริบูรณ์ตามสัญญา ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะรับไปจากจำเลยแล้วแต่จำเลยได้หักหรือกันไว้เป็นค่าปรับหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาของโจทก์ก่อนเท่านั้นเงินดังกล่าวมิได้หมายรวมไปถึงว่าเมื่อจำเลยเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้วแม้โจทก์ทำงานงวดใดยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ จำเลยก็จะต้องจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับงวดงานที่สร้างไม่แล้วเสร็จโดยจ่ายเท่าผลงานที่โจทก์ก่อสร้างไปแล้วด้วยไม่

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

สรุป

สัญญาจ้างเหมามีข้อความว่า เมื่อผู้ว่าจ้างหรือจำเลยบอกเลิกสัญญา บรรดางานที่ผู้รับจ้างหรือที่โจทก์ได้ทำขึ้นหรือก่อสร้างไว้เพื่องานจ้างทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นงานที่ก่อสร้างเสร็จแล้วหรือไม่ก็ตาม ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยสิ้นเชิงและโจทก์จะเรียกร้องค่าตอบแทนหรือค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยไม่ได้ เมื่อโจทก์ก่อสร้างงานงวดที่ 8 และที่ 9 ยังไม่เสร็จบริบูรณ์ตามสัญญาในที่สุดโจทก์ได้คืนงานส่วนที่ยังสร้างไม่เสร็จแก่จำเลย และจำเลยได้บอกเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้ว โจทก์จะเรียกเอาค่าจ้างสำหรับงานงวดที่ 8 และที่ 9 ซึ่งยังก่อสร้างไม่เสร็จจากจำเลยไม่ได้ ส่วนสัญญาจ้างเหมาอีกข้อหนึ่งระบุว่า “หากมีเงินค่าจ้างตามสัญญาที่หักไว้จ่ายเป็นค่าปรับและค่าเสียหายแล้วยังเหลืออยู่อีกเท่าใด ผู้ว่าจ้างจะคืนให้แก่ผู้รับจ้างทั้งหมด”นั้น สำหรับข้อความที่กล่าวถึงเรื่องหากมีเงินค่าจ้างตามสัญญาที่ผู้ว่าจ้างหรือจำเลยหักไว้เป็นค่าปรับและค่าเสียหายเหลืออยู่หลังจากจ้างบุคคลอื่นเข้าไปทำงานที่โจทก์ก่อสร้างค้างไว้จนเสร็จ จำเลยจะจ่ายเงินที่เหลืออยู่นั้นคืนให้แก่โจทก์ทั้งหมด เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเงินค่าจ้างสำหรับงานงวดที่โจทก์ได้ก่อสร้างเสร็จบริบูรณ์ตามสัญญาซึ่งโจทก์มีสิทธิจะรับไปจากจำเลยแล้ว แต่จำเลยได้หักหรือกันไว้ เป็นค่าปรับหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาของโจทก์ ก่อนเท่านั้น เงินดังกล่าวมิได้หมายรวมไปถึงว่าเมื่อจำเลย เลิกสัญญาต่อโจทก์แล้ว แม้โจทก์ทำงานงวดใดยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ จำเลยก็จะต้องจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับงวดงานที่สร้างไม่แล้วเสร็จโดยจ่ายเท่าผลงานที่โจทก์ก่อสร้างไปแล้วด้วยหาได้ไม่