หลักการคำนวณทุนทรัพย์ในคดีที่โจทก์และจำเลยหลายคน ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

หลักการคำนวณทุนทรัพย์ในคดีที่โจทก์และจำเลยหลายคน ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2540/2539

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 986 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โจทก์ที่ 2 เป็นผู้เช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เพื่อประกอบการค้าเป็นห้องพักอาศัยให้เช่าใช้ชื่อว่าโรงแรมมาเมโชงค์ จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 915 ซึ่งมีเขตติดต่อกับที่ดินของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างอาคารโรงแรมพัทยาเซ็นเตอร์ ซึ่งจะทำการปลูกสร้างลงบนที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่อเทศบาลเมืองพัทยา จำเลยที่ 3เป็นผู้รับเหมางานก่อสร้างอาคารโรงแรมพัทยาเซ็นเตอร์จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 5หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้รับจ้างตอกเสาเข็มตามแผนผังในแบบแปลนและคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2532 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ว่าจ้างและมีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 ผู้รับเหมาทำการก่อสร้างอาคารโรงแรมพัทยาเซ็นเตอร์ตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเทศบาลเมืองพัทยาลงบนที่ดินของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 เป็นผู้สั่งซื้อเสาเข็มคอนกรีตและได้ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ให้ทำการตอกเสาเข็มโดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้เลือกหาผู้รับจ้างเอง ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2532 ถึงวันที่20 มีนาคม 2533 จำเลยที่ 4 ได้ดำเนินการปรับพื้นที่และดำเนินการตอกเสาเข็มด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้กำแพงคอนกรีตพื้นปูนบริเวณด้านหลังอาคารห้องพัก ผนังอาคารห้องพัก ท่อน้ำ และสระน้ำของโจทก์ที่ 1ได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 289,697 บาทและจำเลยทั้งห้าต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงินจำนวน 135,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 9,281 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 144,281 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้เงิน 271,062 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 1ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 144,281 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน135,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ไม่ได้กระทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองเพราะจำเลยที่ 1 เป็นเพียงเจ้าของที่ดินจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของสิ่งก่อสร้างและเป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างและจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมิใช่ผู้รับเหมางานก่อสร้างตอกเสาเข็มจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 มิใช่นายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 4 และที่ 5การกระทำของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ก็มิใช่การกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยทั้งห้าขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 289,697 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 271,062 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 144,281 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 135,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในความเสียหายของโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น แม้โจทก์ที่ 2 จะฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมมากับโจทก์ที่ 1 แต่ก็เป็นความเสียหายที่แต่ละคนได้รับต่างหากแยกจากกัน การคำนวณทุนทรัพย์ของแต่ละคนจึงต้องแยกจากกันด้วย สำหรับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2เป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพียง 144,281 บาทไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจ้างและสั่งให้จำเลยที่ 4 ตอกเสาเข็มที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ร่วมกันจ้างและสั่งงานหรือควบคุมการตอกเสาเข็มของจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง และฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้โต้แย้งฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ว่า โจทก์ที่ 1เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 986 ตำบลหนองปรืออำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 915 ซึ่งมีเขตติดต่อกับที่ดินของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 ทำโครงการก่อสร้างอาคารโรงแรมพัทยาเซ็นเตอร์สูง 17 ชั้น บนที่ดินของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ยื่นแผนผังแบบแปลนขออนุญาตปลูกสร้างอาคารดังกล่าวต่อเทศบาลเมืองพัทยาโดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4จำเลยที่ 3 จ้างจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 5 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการให้ดำเนินการตอกเสาเข็มซึ่งมีขนาดใหญ่ยาวประมาณ 20 เมตรห่างจากรั้วกำแพงของโจทก์ที่ 1 เพียง 2 เมตรการตอกเสาเข็มของจำเลยที่ 4 ทำให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ที่ 1 เสียหาย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องวินิจฉัยต่อโจทก์ที่ 1หรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินที่มีการก่อสร้างและตอกเสาเข็มจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างบนที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 3 เป็นผู้จ้างให้จำเลยที่ 4 ดำเนินการตอกเสาเข็มเพื่อการก่อสร้างบนที่ดินของจำเลยที่ 1 อีกทั้งจำเลยที่ 1 ก็เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้นำสืบให้เห็นว่าขณะก่อสร้างนั้นผู้ใดเป็นเจ้าของและรับผิดชอบในการก่อสร้างอาคารโรงแรมบนที่ดินของจำเลยที่ 1 ทั้งได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า เมื่อปรากฏว่าเกิดความเสียหายแก่อาคารของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็เคยเข้าไปตรวจดูแลซ่อมแซมให้บางส่วนพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการก่อสร้างอาคารโรงแรมบนที่ดินของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้จ้างให้จำเลยที่ 4 ตอกเสาเข็มแต่ก็เพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3เป็นผู้ร่วมกันจ้างจำเลยที่ 4 ในการตอกเสาเข็มนั่นเองการจ้างจำเลยที่ 4 ดังกล่าวก็เพื่อความสำเร็จในการตอกเสาเข็มให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เท่านั้นจึงเป็นการรับจ้างทำของ ซึ่งโดยปกติผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้างตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 ซึ่งการที่จำเลยที่ 4ตอกเสาเข็มตามแผนผังแบบแปลนการก่อสร้างของจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ห่างรั้วกำแพงของโจทก์เพียง 2 เมตร เท่ากับจำเลยที่ 4 ดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ย่อมตระหนักดีว่าการตอกเสาเข็มขนาดใหญ่ใกล้ที่ดินของผู้อื่นย่อมทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนอย่างแรงอันจะเป็นเหตุให้อาคารและทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 เสียหายได้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ได้กำชับสั่งให้จำเลยที่ 4 หาวิธีการป้องกันความเสียหายของที่ดินข้างเคียงที่อาจได้รับดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ว่าจ้างให้ตอกเสาเข็มเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่ 1”

พิพากษายืน และให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2

สรุป

คดีระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แม้โจทก์ที่ 2 จะฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมมากับโจทก์ที่ 1 แต่ก็เป็นความเสียหายที่แต่ละคนได้รับต่างหากแยกจากกัน การคำนวณทุนทรัพย์ ของแต่ละคนจึงต้องแยกจากกันด้วย เมื่อคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินที่มีการก่อสร้างอาคารและตอกเสาเข็ม จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้าง โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้จ้างให้จำเลยที่ 4 ดำเนินการตอกเสาเข็ม อีกทั้งจำเลยที่ 1ก็เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 3จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงมีผลประโยชน์ร่วมกันในการก่อสร้างถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ร่วมกันจ้างจำเลยที่ 4ในการตอกเสาเข็ม จำเลยที่ 4 ตอกเสาเข็มตามแผนผังแบบแปลนการก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ห่างรั้วของโจทก์เพียง 2 เมตร ย่อมตระหนักดีว่าการตอกเสาเข็มขนาดใหญ่ย่อมทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนอย่างแรงอันจะเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำจึงต้องรับผิดในความเสียหารของโจทก์