สิทธิในการหักค่าจ้างจากค่าปรับรายวันทำได้หรือไม่

สิทธิในการหักค่าจ้างจากค่าปรับรายวันทำได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้คืนค่าเบี้ยปรับให้แก่โจทก์เป็นเงิน 8,458,908 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,853,908 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 เมษายน 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ และกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 4,853,911.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 เมษายน 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารสำนักงานสาขาพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ในวงเงิน 20,844,000 บาท โดยวิธีประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามประกาศธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แบ่งชำระเป็น 10 งวดงาน ระยะเวลาทำงานตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2559 ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2560 โดยสัญญาว่าจ้าง ข้อ 19 กำหนดว่าถ้าผู้รับจ้างส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จตามสัญญาแต่ผู้ว่าจ้างมิได้บอกเลิกสัญญาผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างปรับเป็นรายวัน วันละ 41,688 บาท เรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้รับจ้างทำงานล่าช้า (ถ้ามี) เรียกค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานอีกวันละ 3,000 บาท และในการที่ผู้ว่าจ้างรับมอบงานที่ผู้รับจ้างส่งมอบล่าช้าให้ถือว่าผู้ว่าจ้างได้บอกสงวนสิทธิ์ในการเรียกเบี้ยปรับในเวลารับมอบงานแล้ว ตามต้นฉบับสัญญาจ้างหรือคู่ฉบับสัญญา ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2560 โจทก์และจำเลยตกลงลดค่าก่อสร้างลงเหลือ 19,811,280.74 บาท วันที่ 19 กรกฎาคม 2560 จำเลยปรับลดค่าปรับรายวันจากวันละ 41,688 บาท เป็นวันละ 39,622.56 บาท และวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยปรับลดค่าปรับรายวันสำหรับงวดงานที่ 10 ให้แก่โจทก์อีก คงปรับวันละ 39,604.34 บาท โจทก์ส่งมอบงานก่อสร้างงวดงานที่ 10 ให้แก่จำเลย ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับงานของจำเลยตรวจรับงานไว้แล้ว โจทก์ส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดตั้งแต่งวดงานที่ 5 ถึงที่ 10 ทุกงวดที่ส่งมอบงานล่าช้า โจทก์ทำหนังสือยืนยันว่า โจทก์จะทำงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาหากเสร็จไม่ทันตามกำหนดโจทก์ยินยอมเสียค่าปรับตามสัญญาจ้างโดยไม่มีเงื่อนไขนับแต่ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นวันหลังจากครบกำหนดตามสัญญาจ้างที่โจทก์ส่งมอบงานงวดสุดท้าย จำเลยคิดค่าปรับตามสัญญาจ้าง 7,765,911.84 บาท ค่าเสียหายอันเกิดจากส่งมอบงานล่าช้าเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ้างผู้ควบคุมงาน 588,000 บาท และค่าเสียค่าเช่าอาคารเพื่อใช้เป็นสำนักงานสาขาพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ดอีก 105,000 บาท รวมเป็นเงิน 8,458,911.24 บาท

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลมีอำนาจปรับลดค่าปรับตามสัญญาจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยหักเงินค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าปรับรายวันในการส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดตามสัญญาจ้าง โจทก์ได้ทำหนังสือแสดงความจำนงยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขไว้ทุกครั้ง แม้จะได้ความว่าโจทก์เคยทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้จำเลยพิจารณาทบทวนแก้ไขสัญญาจ้าง กรณีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกำหนดอัตราค่าปรับงานก่อสร้างอาคารในสัญญาจ้างเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการโต้แย้งไม่ยินยอมให้จำเลยนำค่าปรับรายวันและค่าเสียหายตามสัญญาจ้างหักออกจากเงินค่าจ้างของโจทก์ เพราะเป็นเรื่องขอความเป็นธรรมที่โจทก์เห็นว่าจำเลยกำหนดอัตราค่าปรับรายวันสูงกว่ากฎหมายเท่านั้น คดีรับฟังได้ว่า เมื่อจำเลยหักเงินค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าปรับรายวันในการส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดตามสัญญาจ้าง โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน และตามข้อ 6 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 6 ระบุให้ใช้บังคับแก่ส่วนราชการซึ่งกำหนดคำนิยาม ส่วนราชการ หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม สำนักงานหรือหน่วยราชการอื่นใดของรัฐ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือในต่างประเทศ แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 7 วรรคสอง กำหนดให้กระทรวงการคลังถือหุ้นของธนาคารไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด จำเลยจึงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ดังกล่าว จึงไม่ได้นำมาใช้บังคับกับจำเลย

ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุ จำเลยกำหนดเรื่องค่าปรับรายวันตามสัญญาจ้างไว้ต่างหากแตกต่างจากข้อกำหนดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และจำเลยก็ได้ประกาศอัตราค่าปรับรายวันให้ทราบทั่วกันไว้ในเอกสารประกวดราคาจ้าง เมื่ออัตราค่าปรับรายวันไม่เกินกว่าร้อยละ 0.20 ของจำนวนค่าจ้างตามสัญญาไม่ขัดแย้งต่อกฎหมายหรือกฎระเบียบของจำเลย โจทก์รับทราบอัตราค่าปรับ รายวัน 0.20 ของจำนวนค่าจ้าง ในเอกสารประกวดราคาจ้างก่อนทำการประมูลงาน เมื่อโจทก์ประมูลงานได้และเข้าทำสัญญาว่าจ้างกับจำเลยเท่ากับว่าโจทก์ยอมรับจะปฏิบัติ ตามข้อกำหนดในสัญญาจ้างเรื่องค่าปรับรายวันในอัตราดังกล่าว จึงไม่มีเหตุที่จะปรับลดค่าปรับรายวันตามสัญญาจ้างให้แก่โจทก์ การที่โจทก์รับเงินค่าจ้างส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าปรับรายวันและค่าเสียหายต่าง ๆ จากจำเลยโดยไม่ได้โต้แย้ง ย่อมถือว่าโจทก์ได้ใช้เงินค่าปรับหรือเบี้ยปรับแก่จำเลยแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดเบี้ยปรับจึงเป็นอันขาดไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองให้ลดค่าปรับรายวันลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง โดยเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

สรุป

จำเลยหักเงินค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าปรับรายวันในการส่งมอบงานล่าช้าตามสัญญาจ้าง แม้จะได้ความว่าโจทก์เคยทำหนังสือร้องขอให้จำเลยทบทวนแก้ไขสัญญาจ้าง กรณีกำหนดอัตราค่าปรับเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการโต้แย้งไม่ยินยอมให้จำเลยนำค่าปรับรายวันและค่าเสียหายตามสัญญาจ้างหักออกจากเงินค่าจ้างของโจทก์ จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุโดยใช้ข้อบังคับของจำเลยและระเบียบซึ่งกำหนดเรื่องค่าปรับรายวันตามสัญญาจ้าง เมื่อโจทก์ทราบอัตราค่าปรับรายวันอัตราร้อยละ 0.20 ของจำนวนค่าจ้างก่อนทำการประมูลงาน เท่ากับว่าโจทก์ยอมรับข้อกำหนดในเรื่องค่าปรับรายวันในอัตราดังกล่าว จึงไม่มีเหตุที่จะปรับลดค่าปรับรายวันให้แก่โจทก์ การที่โจทก์รับเงินค่าจ้างส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าปรับรายวันและค่าเสียหายต่าง ๆ จากจำเลยโดยไม่ได้โต้แย้ง ย่อมถือว่าโจทก์ได้ใช้เงินค่าปรับหรือเบี้ยปรับแก่จำเลยแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดเบี้ยปรับจึงเป็นอันขาดไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง