สิทธิเลิกสัญญาในคดีก่อสร้างมีกำหนดระยะเวลา ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

สิทธิเลิกสัญญาในคดีก่อสร้างมีกำหนดระยะเวลา ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2427-2428/2520

คดีทั้งสองสำนวนี้ศาลชั้นต้นพิจารณารวมกันโดยเรียกนายดาวเรืองว่าโจทก์นายสามเขตรว่าจำเลย สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารพักอาศัยให้แล้วเสร็จภายใน ๑๘๐ วัน ต่อมามีการแก้ไขสัญญาเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาจำนวนเงินค่าจ้างและรายการก่อสร้าง โจทก์ก่อสร้างและเบิกเงินจากจำเลยไปแล้ว ๔ งวด เมื่อโจทก์ก่อสร้างเสร็จและส่งมอ เชขจตคึุถภ_/ๅ-บอาคารให้จำเลยแล้ว จำเลยไม่ชำระเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายและค่าจ้างแก้ไขเพิ่มเติมอาคาร ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ก่อสร้างไม่เสร็จภายในกำหนดไม่ก่อสร้างตามแบบแปลนแผนผัง อาคารเสียหาย วัสดุก่อสร้างและช่างไม่ดี โจทก์หมดสิทธิรับเงินค่าจ้างงวดสุดท้าย จำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยต้องเสียค่าจ้างรื้อถอนสิ่งไม่ดีออกแล้วทำใหม่ และโจทก์ต้องเสียค่าปรับตามสัญญา จึงฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ปลูกสร้างอาคารถูกต้องตามสัญญาไม่ต้องรับผิดชอบในการดัดแปลงแก้ไขอาคารของจำเลย นอกจากรายการหินล้างซึ่งได้ตกลงกันให้จำเลยหาช่างมาทำใหม่ ค่าจ้างให้หักเอาจากเงินค่าจ้างงวดที่ ๕ ของโจทก์ จำเลยเป็นผู้ขยายกำหนดเวลาให้ยาวออกไปจากสัญญาเดิม ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าปรับ

สำนวนหลัง จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ผิดสัญญาจ้างนอกเหนือจากที่ได้ฟ้องแย้งไว้แล้ว

โจทก์ให้การว่า จำเลยมิได้เสียหาย

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่จ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้าย ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่การก่อสร้างก่อนงวดสุดท้ายชำรุดบกพร่อง พิพากษาให้โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างร้อยละ ๖๐ ของเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างบ้านตามแบบแปลนให้แล้วเสร็จภายใน ๑๘๐ วัน ในราคา ๕๐๕,๐๐๐ บาท กำหนดจ่ายเงิน ๕ งวดตามผลงาน ในระหว่างก่อสร้างได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการก่อสร้างนอกแบบแปลนหลายรายการ การเบิกเงินแต่ละงวดวิศวกรหรือสถาปนิกที่จำเลยจ้างควบคุมการก่อสร้างต้องลงชื่อรับรองผลงานก่อน การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาจำเลยไม่ทักท้วง คงปฏิบัติตามสัญญาเรื่อยมา จนกระทั่งจำเลยรับมอบงานและจ่ายเงินให้โจทก์แล้ว ๔ งวด ในระหว่างทำงานงวดสุดท้าย หินล้างสีเทาอาคารหลังใหญ่ซึ่งโจทก์ทำเสร็จแล้วมีรอยด่าง โจทก์จำเลยตกลงให้จ้างบุคคลอื่นทำใหม่โดยหักเงินค่าจ้างจากเงินค่าก่อสร้างงวดที่ ๕ จำเลยย้ายเข้าไปอยู่ในอาคารหลังใหญ่เมื่อโจทก์ทาสีเสร็จแล้ว แต่ปรากฏว่าเรือนเด็กและเรือนคนใช้ซึ่งสร้างเสร็จแล้วมีรอยร้าวหลายแห่ง จำเลยจึงปฏิเสธไม่จ่ายเงินงวดที่ ๕ ให้โจทก์และบอกเลิกสัญญา โดยอ้างเหตุว่าการก่อสร้างเกินกำหนดเวลาแล้วยังไม่แล้วเสร็จ อาคารเรือนเด็กและเรือนคนใช้ชำรุดเสียหาย ต้องรื้อทำใหม่ หินล้างสีเทารอบตัวตึกออกสีสนิมและรายการอื่น ๆ ก็เสียหายและไม่ถูกต้อง โจทก์จ้างบุคคลอื่นรื้อเรือนเด็กและเรือนคนใช้แล้วสร้างใหม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เฉพาะสำนวนหลังซึ่งจำเลยฟ้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมหลังจากที่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในสำนวนแรกแล้วนั้น เป็นเรื่องเดียวกับเรื่องเดิมที่จำเลยฟ้องแย้งไว้แล้วนั่นเอง จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓(๑) การที่จำเลยขอสงวนสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมไว้ในฟ้องแย้งนั้นไม่ก่อให้เกิดสิทธิพิเศษขึ้นแต่ประการ ใด ปัญหาข้อนี้แม้คู่ความจะไม่ได้หยิบยกขึ้นมา แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒(๕) ที่ศาลล่างทั้งสองรับวินิจฉัยฟ้องในสำนวนหลังมาด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

แม้การก่อสร้างจะมีกำหนดเวลาแล้วเสร็จไว้แน่นอน และกำหนดเบี้ยปรับไว้เป็นรายวันในกรณีที่มีการผิดสัญญา แต่ตามที่คู่ความปฏิบัติต่อกันนั้น เมื่อโจทก์ก่อสร้างล่วงเลยเวลาที่กำหนดไว้ จำเลยก็ยอมรับเอาผลงานและชำระเงินให้โจทก์โดยดี ไม่ได้มีการทักท้วงหรือปรับตามสัญญาแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาจะถือเอากำหนดเวลาก่อสร้างเป็นสารสำคัญ แม้โจทก์จะผิดสัญญาในข้อนี้จำเลยก็จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาทันทียังไม่ได้ แต่จะต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ก่อสร้างให้เสร็จตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๗ เสียก่อน เมื่อโจทก์ยังก่อสร้างไม่เสร็จอีก จำเลยจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ ส่วนที่จำเลยบอกเลิกสัญญาอ้างเหตุการณ์ชำรุดบกพร่องนั้น ปรากฏว่าเป็นการชำรุดบกพร่องของการก่อสร้างงวดที่ ๑ ถึงงวดที่ ๔ ซึ่งได้มีการรับมอบไปแล้ว จำเลยจึงได้แต่จะเรียกค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐๐ จะยกเอามาเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาไม่ได้

ปัญหาเรืองความเสียหายของจำเลยอันเกิดจากสิ่งก่อสร้างชำรุดบกพร่องนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลดค่าก่อสร้างงวดที่ ๕ ให้โจทก์ลงเหลือร้อยละ ๖๐ มีผลเท่ากับจำเลยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากสิ่งก่อสร้างชำรุดบกพร่องเท่าจำนวนค่าจ้างที่จำเลยต้องจ่ายน้อยลง ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยคงอุทธรณ์ในประเด็นนี้แต่เพียงว่า โจทก์ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามฟ้องเพราะจำเลยนำสืบมีหลักฐานแน่ชัดว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลยดังฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมิได้กล่าวคัดค้านโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า วินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อใด ตอนใด ผิดถูกอย่างใด และเหตุใดจึงควรจะได้ค่าเสียหายตามฟ้อง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ ในชั้นฎีกาจำเลยจึงได้แสดงรายละเอียดที่จำเลยได้รับความเสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่ารายละเอียดดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องในสำนวนหลัง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

สรุป

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าจ้างก่อสร้างอาคารพักอาศัยจากจำเลยผู้ว่าจ้าง จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์ผิดสัญญาจ้าง จำเลยเสียหายและได้บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าปรับและค่าเสียหาย คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาจำเลยฟ้องโจทก์สำนวนหลังฐานผิดสัญญาจ้างนั้นเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้ฟ้องแย้งไว้แล้ว ดังนี้ สำนวนหลังเป็นฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173(1) เพราะเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องเดิมที่ได้ฟ้องแย้งไว้แล้ว การที่จำเลยสงวนสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมไว้ในฟ้องแย้งไม่ก่อให้เกิดสิทธิพิเศษขึ้นแต่ประการใด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยฟ้องสำนวนหลังให้ จึงเป็นการไม่ชอบ

ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความจะมิได้หยิบยกขึ้น ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

สัญญามีกำหนดเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จเป็นงวดไว้แน่นอน และกำหนดเบี้ยปรับไว้เป็นรายวันในกรณีมีการผิดสัญญา แต่ตามที่ปฏิบัติต่อกันเมื่อโจทก์ก่อสร้างล่วงเลยเวลาที่กำหนด จำเลยก็ยอมรับเอาผลงานและชำระเงินตลอดมา ไม่ได้มีการทักท้วงหรือปรับตามสัญญาแต่อย่างใด แสดงว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาจะถือเอากำหนดเวลาก่อสร้างเป็นสารสำคัญ แม้โจทก์จะผิดสัญญาในข้อนี้จำเลยจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาทันทีไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ก่อสร้างให้เสร็จให้เสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เสียก่อน เมื่อโจทก์ยังก่อสร้างไม่เสร็จอีก จำเลยจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

การชำรุดบกพร่องของการก่อสร้างงวดที่ได้รับมอบงานไปแล้ว จำเลยได้แต่จะเรียกค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 แต่จะยกมาเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาหาได้ไม่

ศาลชั้นต้นลดเงินค่าจ้างโจทก์ลงมา มีผลเท่ากับให้จำเลยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายบางส่วน ในขั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นนี้เพียงว่าโจทก์ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามฟ้อง เพราะจำเลยนำสืบมีหลักฐานแน่ชัดว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยดังฟ้องศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยมิได้กล่าวโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าวินิจฉัยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายตอนใดผิดถูกอย่างใด เหตุใดจึงควรได้ค่าเสียหายตามฟ้อง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ในชั้นฎีกาจำเลยจึงได้แสดงรายละเอียดที่จำเลยได้รับความเสียหาย รายละเอียดดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย