สัญญาจ้างเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

สัญญาจ้างเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1193/2563

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารโครงการอุบลสแควร์ เป็นเงิน 262,262,900 บาท โจทก์ก่อสร้างเสร็จบางส่วนเป็นมูลค่า 64 ล้านบาทเศษ โดยมีบริษัทเคแทค แอพเพรซัล แอนด์ เซอร์วิส จำกัดซึ่งจำเลยว่าจ้างให้ตรวจสอบรับรองและประเมินราคา ได้ตรวจสอบประเมินผลงานที่โจทก์ได้ดำเนินการไปแล้ว หลังจากนั้นจำเลยนำผลงานที่โจทก์สร้างดังกล่าวไปขอเบิกเงินกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นธนาคารที่จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินบัญชีไว้แต่จำเลยไม่ชำระค่าก่อสร้างให้โจทก์ โจทก์บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระค่าก่อสร้างแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 51,711,613.73 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยหยุดก่อสร้างหรือสั่งให้ผู้รับเหมารายใหม่หยุดก่อสร้างโครงการอุบลสแควร์ที่พิพาทกันจนกว่าคดีนี้จะถึงที่สุด จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีผลผูกพันกันตามกฎหมายเนื่องจากเป็นข้อตกลงทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบการขอสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเท่านั้น สัญญาก่อสร้างดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ก่อสร้างอาคารดังกล่าวให้จำเลยโดยจำเลยตรวจสอบรับรองผลงานโดยผู้ควบคุมงานของจำเลยเอง ไม่ได้ยึดถือตามรายงานการตรวจสอบรับรองและประเมินราคาจากบริษัทเคแทค แอพเพรซัล แอนด์เซอร์วิส จำกัด เนื่องจากบริษัทเคแทค แอพเพรซัล แอนด์ เซอร์วิสจำกัด จัดทำรายการประเมินราคาก่อสร้างโดยคำนวณจากมูลค่าสินทรัพย์เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ มูลค่างานที่ประเมินจึงไม่ใช่ราคาแท้จริง ไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับค่าผลงานที่แท้จริง จำเลยไม่ได้ค้างค่าก่อสร้างแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์ก่อสร้างไม่เป็นไปตามเงื่อนไขก่อสร้างล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามกำหนดและทิ้งงาน ผลงานที่โจทก์ก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นเงิน 46,067,148 บาท จำเลยชำระแล้วเป็นเงิน 41,915,953.36 บาท คงเหลือเงินค้างชำระ 4,151,194.64 บาท โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลา ทำให้จำเลยขาดประโยชน์อันควรได้จากการประกอบธุรกิจของจำเลยอันเป็นค่าเสียหายจากการขายอาคารพาณิชย์สามชั้นครึ่งเป็นเงิน 105,000,000 บาท ค่าเสียหายจากการขายอาคารพาณิชย์สองชั้นครึ่งเป็นเงิน 123,000,000 บาท ทั้งความเสียหายทางธุรกิจและชื่อเสียงเป็นเงิน 20,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 248,000,000 บาท แต่จำเลยขอคิดค่าเสียหายเพียง 100,000,000 บาท ขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 100,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อ ปี นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะชำระเงินแก่จำเลยเสร็จสิ้น โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สัญญาก่อสร้างมีผลผูกพันตามกฎหมายตรงตามเจตนาของคู่สัญญาไม่ตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่ผิดสัญญา การก่อสร้างที่โจทก์ทำเสร็จมีมูลค่าประมาณ 64 ล้านบาทเศษโดยมีบริษัทเคแทค แอพเพรซัล แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จำเลยว่าจ้างให้ตรวจสอบรับรองและประเมินราคา ได้ตรวจสอบประเมินผลงานที่โจทก์ได้ดำเนินการไปแล้วและแจ้งจำเลย จำเลยทำการเบิกเงินจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยแล้ว แต่ไม่นำเงินมาชำระให้โจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต่อมาจำเลยนำผู้รับเหมารายใหม่เข้ามาทำงานแทนโจทก์ ทำให้มูลค่างานของโจทก์เสื่อมค่าลง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง ระหว่างพิจารณาคู่ความประสงค์เสนอข้อพิพาทอันเกี่ยวกับประเด็นทั้งปวงในคดีให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด เว้นแต่ประเด็นว่าสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ. 3 ตกเป็นโมฆะตามที่จำเลยให้การหรือไม่ โดยโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 33,391,904.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (วันที่ 19 พฤษภาคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้ง กับให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท คำขออื่นของคู่ความให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 40,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่าโจทก์จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 จำเลยทำสัญญาเลขที่ UBS-P 1.03 ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างงานโครงสร้าง – สถาปัตย์ และงานระบบประกอบอาคารโครงการอุบลสแควร์เฟส 2 และเฟส 1 (บางส่วน) ตามสัญญาเอกสารหมาย จ. 3 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยว่า สัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ. 3 เป็นโมฆะหรือไม่ตามประเด็นที่จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีไว้ชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557 ทั้งโจทก์จำเลยต่างแสดงความประสงค์ชัดแจ้งที่จะเสนอข้อพิพาทอันเกี่ยวกับประเด็นทั้งปวงในคดีให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดเว้นแต่ประเด็นข้อพิพาทว่าสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ. 3 ตกเป็นโมฆะหรือไม่ตามที่จำเลยให้การให้ศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษา ซึ่งชอบที่คู่ความจะกระทำได้ แม้ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทโดยความเห็นชอบของคู่ความข้อ 1. ว่าโจทก์หรือจำเลยฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อสร้างอาคารโครงการอุบลสแควร์หลังจากนั้นโจทก์จำเลยต่างนำสืบในชั้นอนุญาโตตุลาการตามประเด็นดังกล่าว โดยโจทก์จำเลยต่างมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด หรือในชั้นอนุญาโตตุลาการโจทก์และจำเลยต่างก็อ้างสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ. 3 เป็นข้อเรียกร้องของตน และจำเลยมิได้คัดค้านในชั้นอนุญาโตตุลาการมิให้รับฟังเอกสารหมาย จ. 3 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยหรือแม้ว่าค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายของศาลชั้นต้นแล้วจะเห็นว่าคู่ความยอมเสียค่าใช้จ่ายให้แก่อนุญาโตตุลาการสูงมากดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แต่ก็จะถือว่าจำเลยแสดงเจตนาอันแท้จริงว่ามีความประสงค์จะสละประเด็นในข้อที่ว่าสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ. 3 เป็นโมฆะหรือไม่แล้วดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไว้หาได้ไม่ เพราะการที่โจทก์จำเลยแสดงเจตนาไว้แต่ต้นว่าให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยว่าสัญญาเอกสารหมาย จ. 3 เป็นโมฆะหรือไม่ย่อมหมายความว่าไม่ว่าอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยเป็นการประการใดแล้ว แต่ก่อนจะบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทั้งโจทก์และจำเลยต่างประสงค์จะให้ศาลวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่งว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ หากไม่เป็นโมฆะจึงให้บังคับตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้มา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557 ปรากฏชัดเจนตามคำแถลงของคู่ความว่าให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไปได้ว่าสัญญาเอกสารหมาย จ. 3 เป็นโมฆะหรือไม่ โดยโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยานในประเด็นนี้อีกดังนั้น เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า จึงเห็นควรวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวไปทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเสียก่อนในปัญหาว่าสัญญาเอกสารหมาย จ. 3 เป็นโมฆะหรือไม่นั้น เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งโจทก์ผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานคือก่อสร้างงานโครงสร้าง – สถาปัตย์ และงานระบบประกอบอาคารโครงการอุบลสแควร์เฟส 2 และเฟส 1 (บางส่วน) ตามสัญญาเอกสารหมาย จ. 3 ให้แก่จำเลยผู้ว่าจ้าง และจำเลยผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่โจทก์ผู้รับจ้างเพื่อผลแห่งการที่ทำนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 โดยไม่ปรากฏว่าวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันจะเป็นการโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และแม้โจทก์จำเลยจะตกลงกันว่าสัญญาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบการขอสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่เมื่อเนื้อหาสาระสำคัญของสัญญาเอกสารหมาย จ. 3 ที่จำเลยตกลงว่าจ้างให้โจทก์ก่อสร้างตามสัญญาถูกต้องตรงตามเจตนาของโจทก์จำเลย ดังนั้น แม้จะมีรายละเอียดในสัญญาแตกต่างกับความที่ปรากฏในสัญญาบ้าง เช่น ฝ่ายใดเป็นฝ่ายจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างเป็นการเหมาค่าแรงหรือไม่ หรือคู่ความตกลงกันให้ระบุจำนวนเงินค่าจ้างในสัญญาแตกต่างกับที่โจทก์จำเลยตกลงกันจริงดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ ก็หาใช่เป็นการแสดงเจตนาลวงอันจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 การทำสัญญาก่อสร้างดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นโมฆะดังที่จำเลยต่อสู้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์ไม่นำสืบตามประเด็นว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ จึงต้องฟังว่าสัญญาเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นฝ่ายยกข้อเท็จจริงว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะเพราะสัญญาก่อสร้างดังกล่าวไม่มีผลผูกพันกันตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นข้อตกลงทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบการขอสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้น เมื่อฝ่ายจำเลยมิได้นำพยานเข้าสืบตามประเด็นดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ดังที่จำเลยให้การต่อสู้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน เมื่อสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.3 ไม่ตกเป็นโมฆะ ทั้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนดังวินิจฉัยมาแล้ว คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความพิพาทตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 จำเลยจึงต้องรับผิดตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาแล้วพิพากษาตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น” พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยต่างแสดงความประสงค์เสนอข้อพิพาทอันเกี่ยวกับประเด็นทั้งปวงในคดีให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดเว้นแต่ประเด็นข้อพิพาทว่าสัญญาจ้างตกเป็นโมฆะหรือไม่ตามที่จำเลยให้การ ให้ศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษาซึ่งคู่ความชอบที่จะกระทำได้ แม้ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทโดยความเห็นชอบของคู่ความว่าโจทก์หรือจำเลยฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อสร้างอาคาร แล้วโจทก์จำเลยต่างนำสืบในชั้นอนุญาโตตุลาการตามประเด็นดังกล่าว โดยโจทก์จำเลยต่างมิได้โต้แย้งหรือในชั้นอนุญาโตตุลาการโจทก์และจำเลยต่างก็อ้างสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องของตน และจำเลยมิได้คัดค้านมิให้รับฟังหรือแม้ค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายของศาลชั้นต้นก็จะถือว่าจำเลยแสดงเจตนาว่ามีความประสงค์จะสละประเด็นในข้อที่ว่าสัญญาจ้างเป็นโมฆะหรือไม่แล้วหาได้ไม่ ดังนั้นก่อนจะบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการศาลชอบที่จะวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเป็นโมฆะหรือไม่ หากไม่เป็นโมฆะจึงให้บังคับตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการต่อไป จำเลยเป็นฝ่ายยกข้อเท็จจริงว่าสัญญาจ้างเป็นโมฆะ เพราะสัญญาก่อสร้างไม่มีผลผูกพันกันตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นข้อตกลงทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบการขอสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารเท่านั้นเมื่อฝ่ายจำเลยมิได้นำพยานเข้าสืบตามประเด็นดังกล่าว ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ตามที่จำเลยให้การต่อสู้ เมื่อสัญญาจ้างไม่ตกเป็นโมฆะ ทั้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการย่อมมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความพิพาทตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 จำเลยต้องรับผิดตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ