ศาลฎีกาวางหลักการวินิจฉัยเรื่องเงินมัดจำไว้อย่างไร

ศาลฎีกาวางหลักการวินิจฉัยเรื่องเงินมัดจำไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4361/2530

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาก่อสร้างประมูลรับเหมาก่อสร้างอาคารของแผนกทำไม้ สาขาขอนแก่น จากจำเลยได้ในราคา 2,471,000 บาท มีเงื่อนไขว่าจะต้องนำเงินสดร้อยละห้าของราคาที่ประมูลได้เป็นเงิน 123,500 บาท มาวางค้ำประกันกับจำเลย หากไม่มีเงินให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันแทนได้ โจทก์ได้ออกหนังสือค้ำประกันในวงเงิน 123,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2511 ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2512 โดยยอมรับผิดชำระเงินในวงเงินจำนวนดังกล่าว หากห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาก่อสร้างผิดสัญญาจ้างเหมา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2512 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้ธนาคารโจทก์ทราบว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาก่อสร้างผิดสัญญา จำเลยได้สั่งริบเงินมัดจำค้ำประกันสัญญาจำนวน 123,500 บาท ให้ส่งเงินไปให้ริบตามสัญญาภายใน 30 วัน โจทก์จึงส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลย ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาก่อสร้างและผู้ค้ำประกัน เพื่อไล่เบี้ย แต่ศาลฎีกาพิพากษาตามคำพิพากษาฎีกาที่ 402/2518 ว่า หนังสือค้ำประกันเป็นเพียงสัญญาที่โจทก์ผูกพันตนเองต่อจำเลยเพื่อชำระหนี้เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาก่อสร้างผิดสัญญาจ้างเหมาและไม่ชำระหนี้เท่านั้น หนังสือค้ำประกันมิใช่เงินมัดจำ จำเลยริบไม่ได้ การที่จำเลยริบเงินจำนวน 123,500 บาท จึงปราศจากมูลหนี้จะอ้างอิงได้ตามกฎหมาย เป็นการมิชอบถือเป็นลาภมิควรได้ จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 123,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินให้จำเลยถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์ฟังคำพิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 ฟ้องคดีเกิน 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ การที่โจทก์ชำระหนี้ทั้งที่รู้ว่าตนไม่มีความผูกพันต้องชำระหรือเหตุที่ไม่รู้เป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่มีสิทธิได้รับเงินคืน ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาก่อสร้างประมูลงานก่อสร้างของจำเลยได้ จะต้องวางเงินสดเป็นประกันร้อยละห้าของเงินค่าจ้างและใช้หนังสือค้ำประกันของโจทก์ให้จำเลยยึดถือไว้แทนเงินมัดจำโจทก์สัญญาว่าหากห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาก่อสร้างกระทำผิดสัญญาจ้าง โจทก์ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้แทน โจทก์จึงได้ส่งเงินให้จำเลย จำเลยรับไว้โดยสุจริตและส่งเป็นรายได้ของรัฐไปแล้ว จำเลยไม่ต้องคืนให้แก่โจทก์ คดีที่โจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาก่อสร้างกับพวกเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ย โจทก์ดำเนินคดีบกพร่อง ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง โจทก์ส่งเงินให้จำเลยเพื่อให้ริบในฐานะเป็นเงินมัดจำหาใช่เรื่องปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ดังที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยคืนเงิน 123,500 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2512 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยรับเงินจากโจทก์จนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาก่อสร้างรับเหมาก่อสร้างอาคารของแผนกทำไม้ สาขาขอนแก่น ของจำเลยในราคา 2,471,000 บาท ซึ่งจะต้องวางมัดจำร้อยละ 5 ของราคาก่อสร้าง คิดเป็นเงิน 123,500 บาท หรือมิฉะนั้นจะต้องให้ธนาคารค้ำประกันในวงเงินดังกล่าว โจทก์ได้ออกหนังสือค้ำประกันชดใช้ค่าเสียหายกรณีผิดสัญญาของห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาก่อสร้างให้แก่จำเลยในวงเงิน 123,500 บาท ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด วัฒนาก่อสร้างผิดสัญญา จำเลยได้บอกเลิกสัญญาและแจ้งให้โจทก์ทราบว่าได้สั่งริบเงินมัดจำตามหนังสือค้ำประกัน ให้ส่งเงินจำนวน 123,500 บาท ให้แก่จำเลยในวันที่ 22 กันยายน 2512 โจทก์ส่งเงินให้จำเลย และโจทก์เคยฟ้องไล่เบี้ยเรียกเงินจำนวน 123,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยคืนจากห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาก่อสร้าง แต่ศาลฎีกาพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ส่งเงินตามหนังสือค้ำประกัน เมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาก่อสร้างไม่มีหน้าที่ต้องชำระ โจทก์ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยจากห้างหุ้นส่วนจำกัด วัฒนาก่อสร้างและพวก ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หนังสือค้ำประกันที่โจทก์ทำไว้กับจำเลยมีข้อความเพียงว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาก่อสร้างผิดสัญญารับเหมาก่อสร้างโจทก์ขอรับผิดชดใช้เงินแทนในวงเงินไม่เกิน 123,500 บาท โจทก์มิได้วางเงินตามหนังสือค้ำประกันต่อจำเลย จึงมิใช่มัดจำตามกฎหมาย นอกจากนี้ตามสัญญาจ้างเหมาระหว่างจำเลยและห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาก่อสร้างมิได้มีข้อความให้จำเลยริบเงินตามหนังสือค้ำประกันได้ ในข้อ 5 ก.ให้ปรับได้เป็นรายวันวันละ 500 บาทจนกว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จเท่านั้น เมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยไปโดยที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาก่อสร้างไม่มีหน้าที่ต้องชำระ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ชำระแก่จำเลย เป็นทรัพย์ซึ่งจำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เป็นลาภมิควรได้ พิพากษายืน

สรุป

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยก่อสร้างผิดสัญญาและแบบแปลนท้ายสัญญาจำเลยให้การว่าจำเลยมิได้ก่อสร้างผิดสัญญาหากจะมีการผิดเงื่อนไขและแบบแปลนบ้างก็โดยความเห็นชอบของโจทก์และตัวแทนของโจทก์แล้ว การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่าจำเลยก่อสร้างผิดสัญญาหรือไม่ย่อมคลุมถึงปัญหาว่าโจทก์และตัวแทนโจทก์ได้ยินยอมให้จำเลยก่อสร้างผิดจากแบบแปลนหรือไม่ด้วย จึงเป็นประเด็นในคดีจำเลยมีสิทธินำสืบและศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้