รื้อถอนบ้านหลังเก่าแล้วทำให้บ้านหลังอื่นเสียหาย สามารถยื่นคำร้องขอเป็นโจทกร่วมได้หรือไม่

รื้อถอนบ้านหลังเก่าแล้วทำให้บ้านหลังอื่นเสียหาย สามารถยื่นคำร้องขอเป็นโจทกร่วมได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354 ให้จำเลยคืนเงิน 772,100 บาท แก่กองมรดกหรือแบ่งส่วนตามกฎหมายแก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางแสงรัตน์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต โจทก์ร่วมยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนบ้านไม้สองชั้นเลขที่ 331/4 ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร ที่จำเลยรื้อถอนออกไปจากที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกเป็นเงิน 500,000 บาท และค่ารื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่จำเลยปลูกขึ้นใหม่เพื่อปรับสภาพที่ดินเป็นเงิน 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม

จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบมาตรา 354 จำคุก 3 ปี และปรับ 300,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง ภายใน 1 ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยคืนที่ดินทรัพย์มรดกโดยการโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทแก่โจทก์ร่วม และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิด เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ

โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ไม่รอการลงโทษจำคุก ไม่ปรับและไม่คุมความประพฤติของจำเลย ให้จำเลยคืนที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ยักยอกไปแก่กองมรดก ยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในส่วนที่โจทก์ร่วมและจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้จัดการมรดกของนายอนุวัชร์ ผู้ตาย จำเลยกับผู้ตายไม่มีบุตรด้วยกัน บิดามารดาของผู้ตายถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย โจทก์ร่วม นายชนินทร์ นายชัยรัตน์ และนางปรินันท์ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย ในวันเวลาที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนไถ่ถอนและโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 9476 อันเป็นทรัพย์มรดกส่วนหนึ่งของผู้ตายให้แก่จำเลยเพียงผู้เดียว

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกก่อน แล้วจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทนั้นให้แก่จำเลยอีกทีหนึ่ง โดยจำเลยให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราชว่า…มีความประสงค์จะขอรับมรดกที่ดินโฉนดดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวในฐานะญาติโดยธรรม ประกอบกับจำเลยเบิกความรับว่า จำเลยทราบและได้เบิกความต่อศาลในคดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายว่าผู้ตายมีทายาทอื่นที่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก ดังนี้ การจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตน จึงเป็นการกระทำโดยทุจริต มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบมาตรา 354 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยในฐานะคู่สมรสของผู้ตายมีสิทธิได้ส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทมากกว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย ประกอบกับจำเลยเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ร่วมหรือทายาทอื่นไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยเลย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้งหนึ่งด้วยการรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่เพื่อป้องปรามไม่ให้จำเลยหวนกลับไปกระทำความผิดอีก เห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำร้องที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมแก่โจทก์ร่วมชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ร่วมจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 นั้น ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่พนักงานอัยการฟ้องร้องเท่านั้น โจทก์ร่วมจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่ไม่ได้ถูกฟ้องไม่ได้ เมื่อคดีนี้พนักงานอัยการไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเกิดจากการรื้อถอนบ้านหลังเก่าที่ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินพิพาทแล้วปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมาแทน ดังนั้น โจทก์ร่วมจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากการรื้อบ้านหลังเก่าและให้รื้อบ้านหลังใหม่เพื่อปรับสภาพพื้นที่ย่อมไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำร้องที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 30,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นฎีกาให้เป็น

สรุป

กรณีที่โจทก์ร่วมจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 นั้น ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่พนักงานอัยการฟ้องร้องเท่านั้น โจทก์ร่วมจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่ไม่ได้ถูกฟ้องไม่ได้ เมื่อคดีนี้พนักงานอัยการไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเกิดจากการรื้อถอนบ้านหลังเก่าที่ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินพิพาทแล้วปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมาแทน ดังนั้น โจทก์ร่วมจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากการรื้อบ้านหลังเก่าและให้รื้อบ้านหลังใหม่เพื่อปรับสภาพพื้นที่ย่อมไม่ได้