รับมอบงานล่าช้าเกินกำหนด ถือว่าไม่ได้ติดใจระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาหรือไม่

รับมอบงานล่าช้าเกินกำหนด ถือว่าไม่ได้ติดใจระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3012/2552

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2539 จำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารแมนชั่น 7 ชั้น โดยสร้างตามแบบแปลนของสำนักงานเขตหรือสำนักงานโยธาและรายการแนบท้ายให้เสร็จภายใน 18 เดือน นับจากวันได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง ตกลงค่าจ้างราคา 16,700,000 บาท แบ่งชำระเป็น 16 งวด ตามผลงานที่ทำ งวดละ 1,043,750 บาท งวดสุดท้ายชำระภายใน 7 วัน นับแต่วันส่งมอบงานเมื่อโจทก์เทพื้นชั้นล่าง ติดตั้งสุขภัณฑ์ ทาสี เก็บกวาดพร้อมส่งมอบนอกจากนั้นระหว่างก่อสร้างจำเลยทั้งสองว่าจ้างโจทก์เทถอนเพิ่มเติม และทำกระจกเป็นสีชาดำ รวมเป็นเงินเพิ่มอีก 175,640 บาท อีกด้วย โจทก์ทำงานตามสัญญาและส่วนเพิ่มเติมเสร็จกลางเดือนพฤษภาคม 2541 โจทก์หักเงินคืนจำเลยทั้งสองเป็นค่าก่ออิฐด้านหน้าและค่าประตูอลูมิเนียมรวมเป็นเงิน 100,000 บาท แล้ว คงเหลือยอดเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายและค่าก่อสร้างเพิ่มเติมที่จำเลยทั้งสองต้องชำระแก่โจทก์จำนวน 1,118,750 บาท โจทก์ส่งมอบงานงวดสุดท้ายตามสัญญาพร้อมงานเพิ่มเติมในวันที่ 1 มิถุนายน 2541 แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระค่าจ้าง โจทก์ทวงถามโดยแจ้งไปด้วยว่าต้องเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคารอัตราสูงแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,118,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่า เงินส่วนที่หักคืนค่าก่ออิฐและประตูอลูมิเนียมเป็นส่วนไหนของสัญญาว่าจ้าง ไม่บรรยายว่าโจทก์ผิดสัญญาหรือไม่อย่างไร และเหตุใดจึงมีการหักเงินคืนจำเลย จำเลยที่ 2 ทั้งในฐานะส่วนตัวหรือร่วมกับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ว่าจ้างโจทก์แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 โดยลำพังเป็นคู่สัญญาว่าจ้างโจทก์ ยอดหนี้ตามฟ้องไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระค่าจ้างงดสุดท้ายแก่โจทก์ แต่โจทก์ต้องหักค่าเสาเข็มเป็นเงิน 756,600 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระแทนโจทก์ไปก่อนออกด้วย เพราะค่าเสาเข็มรวมอยู่ในราคาที่ตกลงว่าจ้างกันแล้ว จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์เทถนนเพิ่มเติมเป็นเงินเพียง 89,040 บาท และว่าจ้างโจทก์เปลี่ยนสีกระจกจากสีขาวใสเป็นสีชาดำเป็นเงินเพียง 6,000 บาท เท่านั้น การหักเงินคืนค่าก่ออิฐด้านหน้าต้องรวมเงินค่าทาสีด้วย รวมเป็นเงิน 89,400 บาท และการหักเงินคืนค่าประตูมีทั้งประตูอลูมิเนียมและประตูไม้สักอีกหลายบานรวมเป็นเงิน 89,500 บาท มิใช่เพียงเท่าที่โจทก์อ้าง โจทก์ก่อสร้างงานเสร็จล่าช้ากว่ากำหนดเป็นเวลา 103 วัน ต้องเสียค่าปรับวันละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 206,000 บาท หักทอนแล้วจำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้ค้างกับโจทก์ตามฟ้องทั้งตามสัญญาว่าจ้างไม่มีข้อตกลงให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 962,390 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นพับ

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพาทษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 5,000 บาท

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาใจความว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าเหตุใดจึงยอมคืนเงินค่าอิฐและค่าประตูอลูมิเนียมแก่จำเลย และชิ้นงานดังกล่าวอยู่ในงานงวดใดของสัญญา ทำให้จำเลยไม่เข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาว่าจ้างก่อสร้างและงานที่ให้โจทก์ทำเพิ่มเติม สำหรับงานเพิ่มเติมจำนวนเงินรวม 175,640 บาท โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าเป็นงานเทถนนและทำกระจกอลูมิเนียมแผงหน้าสีชาดำซึ่งโจทก์หักเงินคืนเป็นค่าก่ออิฐด้านหน้า 80,000 บาท หักเงินคืนค่าประตูอลูมิเนียมเป็นเงิน 20,000 บาท แก่จำเลย คงเหลือเงินค้าจ้างในงานเพิ่มเติม 75,000 บาท เมื่อรวมค่าจ้างในงานงวดที่ 16 จำนวน 1,043,750 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 1,118,750 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิด ส่วนสาเหตุใดที่โจทก์ต้องคืนเงินค่าอิฐและค่าประตูอลูมิเนียมนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ เช่นนี้ฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอให้จำเลยเข้าใจได้แล้ว ทั้งตามคำให้การของจำเลยทั้งสอง ข้อ 2.3 และข้อ 2.4 จำเลยได้ต่อสู้คดีเรื่องหักคืนค่าก่ออิฐและหักคืนค่าประตูอลูมิเนียมได้ละเอียดและยังโต้แย้งในส่วนของเงินค่าก่ออิฐว่าต้องเป็นเงิน 80,320 บาท และจะต้องคืนค่าทาสีด้วย ส่วนค่าประตูอลูมิเนียมโจทก์จะต้องคืนให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 89,500 บาท ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมิได้หลงต่อสู้คดีจึงให้การเช่นว่านั้นได้ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมชอมแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปว่า งานเสาเข็มเป็นงานในสัญญาว่าจ้างหรือไม่ และการที่โจทก์ส่งมอบงานงวดที่ 16 ล่วงพ้นกำหนดเวลาสิ้นสุดตามสัญญาแล้วโจทก์ต้องเสียเบี้ยปรับให้จำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เคยว่าจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์มาก่อน เป็นการว่าจ้างแบบเหมาทั้งหมด ต่อมาทำสัญญาว่าจ้างการก่อสร้างพิพาทจึงเป็นการเหมาค่าแรงงานและสิ่งของ ซึ่งหากมีการยกเว้นความรับผิดในราคาของงานเสาเข็มว่าโจทก์ไม่ต้องชำระก็ต้องระบุให้ชัดเจนในสัญญาที่โจทก์เป็นผู้จัดทำเองทั้งฉบับ จำเลยที่ 2 เชื่อใจโจทก์ที่เป็นเพื่อนกันมานานจึงช่วยออกเงินค่าเสาเข็มไปก่อน และตามสัญญาว่าจ้างระบุถึงสิทธิของผู้ว่าจ้างและของผู้รับจ้างไว้แล้วจึงไม่ต้องแจ้งสิทธิหรือสงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับอีก แม้จำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินให้โจทก์ก็จะถือว่าคู่สัญญาไม่ยึดถือสัญญาว่าจ้างในการเรียกร้องสิทธิหาได้ไม่ ทั้งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เคยบอกโจทก์แล้วว่าจะมีผู้มาใช้ประโยชน์ในอาคารที่ก่อสร้างซึ่งเป็นการทักท้วงที่โจทก์ไม่สามารถทำงานให้เสร็จภายในกำหนดตามสัญญาแล้ว โจทก์จึงต้องชำระค่าปรับตามสัญญาว่าจ้างด้วยนั้น เห็นว่า ตามสัญญาว่าจ้างการก่อสร้าง แม้ไม่ได้ระบุว่างานเสาเข็มโจทก์ไม่ต้องชำระราคาตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกา แต่ก็ไม่ได้ระบุถึงงานเสาเข็มไว้ในสัญญานั้น โดยงานงวดที่ 1 ระบุว่าเป็นงานก่อสร้างฐานรากซึ่งนายม่วง ช่างก่อสร้างลูกจ้างของโจทก์เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ภายหลังจากงานตอกเสาเข็มก็จะต้องผูกเหล็กเพื่อวางฐานราก ซึ่งงานก่อสร้างฐานรากที่นายม่วงเบิกความตรงกับงานงวดที่ 1 ที่ระบุในสัญญาว่าจ้าง เช่นนี้งานก่อสร้างฐานรากจะทำได้ต่อเมื่องานตอกเสาเข็มเสร็จแล้วประกอบกับสัญญาดังกล่าวข้อ 8 ระบุโดยสรุปถึงความรับผิดของโจทก์ต่ออุบัติเหตุหรือภยันตรายความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากงานของโจทก์และต้องรับผิดชอบแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่อยู่ในบริเวณที่ทำการจ้างและทรัพย์สินของผู้อื่นในบริเวณใกล้เคียงที่ก่อสร้างโดยการกระทำของคนงาน ช่าง หรือบริวารของโจทก์ด้วย เว้นแต่ในกรณีตอกเสาเข็มลงฐานรากทั้งโครงการผลเสียหายจะไม่เกี่ยวกับโจทก์ เมื่อข้อสัญญาดังกล่าวระบุไว้ชัดเจนว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากการตอกเสาเข็ม ทั้งงานก่อสร้างฐานรากเป็นงานงวดแรกตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 จะจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ ทำให้เชื่อว่าการซื้อและการตอกเสาเข็มไม่ได้เป็นงานในสัญญาว่าจ้างซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ตามที่โจทก์นำสืบมาและที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ต้องรับผิดในราคาเสาเข็มแต่โจทก์นำใบวางบิลค่างานเสาเข็มให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสาเข็มแทนไปก่อนเพราะขณะนั้นโจทก์ไม่มีเงินเพียงพอแล้วจะไปหักกลบกับค่าจ้างในงานงวดสุดท้ายนั้น เห็นว่า ตามใบวางบิลประกอบคำเบิกความของนางมะขามสากรรมการของบริษัทไกรแสง จำกัด ผู้จำหน่ายและตอกเสาเข็มคดีนี้เบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งสองว่า กำหนดชำระเงินค่าเสาเข็มวันที่ 12 ธันวาคม 2539 ทำให้ฟังได้ว่ากำหนดชำระเงินค่าเสาเข็มคือวันที่ดังกล่าวจริง ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากโจทก์รับเงินค่าจ้างในงานงวดที่ 1 และที่ 2 ซึ่งโจทก์รับมาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 แล้วเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าเสาเข็มในวันที่ครบกำหนดชำระได้ อีกทั้งหากจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเสาเข็มก็ไม่ควรที่จะชำระค่าเสาเข็มแทนโจทก์เนื่องจากยังไม่ถึงกำหนดชำระ ทั้งวันที่ลงในเช็คก็เป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะได้รับเงินค่าจ้างในงานงวดที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเงินจำนวน 2,087,500 บาท เพียง 5 วัน โจทก์ย่อมสามารถชำระค่าเสาเข็มได้เอง และระยะเวลาเพียงเท่านี้หากโจทก์ไม่ได้ชำระราคาค่าเสาเข็มก็ไม่อาจทำให้การก่อสร้างของโจทก์ล่าช้าไปได้ นอกจากนี้การว่าจ้างก่อสร้างพิพาทได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ ทั้งจำเลยยังอ้างในฎีกาอีกว่าหากมีการยกเว้นราคาของงานค่าเสาเข็มว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดก็ต้องระบุให้ชัดเจนในสัญญาเช่นนี้ ในทำนองเดียวกันหากการชำระราคาเสาเข็มของจำเลยที่ 2 เป็นการชำระแทนโจทก์ซึ่งจะนำไปหักกลบลบกันในงานงวดสุดท้าย จำเลยที่ 2 ก็ควรที่จะจดแจ้งไว้ในสัญญาให้ปรากฏหลักฐานเช่นเดียวกัน ทำให้ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ จึงมีน้ำหนักในการรับฟ้องน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ คดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระราคาค่าเสาเข็มซึ่งรวมถึงค่าตอกเสาเข็มด้วยทำให้ไม่อาจนำค่าเสาเข็มนี้มาหักออกจากค่าจ้างในงานงวดสุดท้ายได้ ส่วนปัญหาที่โจทก์ส่งมอบงานงวดสุดท้ายล่วงพ้นกำหนดเวลาสิ้นสุดตามสัญญาแล้วจะต้องเสียเบี้ยปรับให้จำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามสัญญาว่าจ้างการก่อสร้าง ข้อ 4 โจทก์ต้องทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 18 เดือน หลังจากได้รับใบอนุญาตก่อสร้างและตามข้อ 17 ระบุว่าหากโจทก์ส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดโจทก์ยอมให้จำเลยปรับเป็นรายวัน วันละ 2,000 บาท จนถึงวันงานแล้วเสร็จบริบูรณ์ทั้งโครงการ ซึ่งเกี่ยวกับใบอนุญาตก่อสร้างนี้เจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้อนุญาตได้ออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2539 ฉะนั้นระยะเวลาก่อสร้างจะสิ้นสุดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 แต่ทางพิจารณาได้ความว่านอกจากงานก่อสร้างตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำงานเพิ่มเติมไปจากสัญญาด้วย เช่น งานเทคอนกรีตถนนและเปลี่ยนสีกระจกตามแบบแปลนเป็นสีชาดำซึ่งโจทก์ต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งงานงวดที่ 14 และที่ 15 โจทก์ส่งมอบพร้อมกันในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งล่วงพ้นระยะเวลาก่อสร้างสิ้นสุดแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่างวดทั้งสองงวดนั้นให้โจทก์ด้วยเช็คลงวันที่ 25 มีนาคม 2541 ตามใบส่งมอบงานแผ่นที่ 1 ถึงที่ 3 โดยไม่ปรากฏว่าในขณะรับมอบงานนั้นจำเลยที่ 1 ได้อิดเอื้อนหรือสงวนสิทธิที่จะเอาเบี้ยปรับไว้ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้บอกโจทก์แล้วว่า จะมีคนมาใช้ประโยชน์ในอาคารที่ก่อสร้างก็เป็นเพียงคำปรารภในการพูดคุยธรรมดาว่าจะมีคนมาเช่าอาคารที่กำลังก่อสร้าง หาใช่เป็นการสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับไม่ ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ในสัญญามีระบุเรื่องเบี้ยปรับไว้แล้วจึงไม่ต้องแสดงสิทธิหรือสงวนสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับอีกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 รับมอบงวนงวดที่ 14 และที่ 15 ทั้งที่ล่วงพ้นระยะเวลาก่อสร้างสิ้นสุดแล้วและให้โจทก์ก่อสร้างงานงวดที่ 16 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายต่อไป ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาเป็นสำคัญทั้งมีงานที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำนอกเหนือสัญญาด้วย จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าข้อสัญญาที่เกี่ยวกับการส่งมอบงานล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามสัญญานี้โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างมีเจตนาให้ระงับกันไปไม่ถือเป็นการผิดสัญญาอีก ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับที่โจทก์ส่งมอบงานพ้นกำหนดเวลาสิ้นสุดตามสัญญาด้วย ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่จะไม่สงวนสิทธิแล้วเรียกเอาค่าปรับจึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้น จำเลยที่ 1 ไม่อาจบังคับเรียกเบี้ยปรับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคท้าย และมาตรา 597 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระค่าเสาเข็มและไม่มีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับจากโจทก์เพื่อนำมาหักทอนกับค่าจ้างงวดสุดท้ายได้นั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นประการสุดท้ายว่าค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์จำนวน 15,000 บาท สูงเกินไปสมควรกำหนดให้เพียง 3,000 บาท หรือไม่นั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องทุนทรัพย์เป็นเงิน 1,118,750 บาท ฉะนั้น ค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้แทนเป็นเพียงร้อยละ 1.35 ของจำนวนทุนทรัพย์ดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่อาจกำหนดค่าทนายความให้ในอัตราขั้นสูงได้ถึงร้อยละ 5 ของจำนวนทุนทรัพย์ตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับเดิมซึ่งใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง ทั้งคดีนี้นับแต่วันที่โจทก์ยื่นฟ้องถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใช้เวลาประมาณ 3 ปี และต้องพิจารณาถึงความยากง่ายของคดีประกอบด้วย ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความแทนโจทก์จำนวน 15,000 บาท จึงไม่สูงเกินไป ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความแทนโจทก์เพียง 3,000 บาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์

สรุป

นอกจากงานก่อสร้างตามสัญญา จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำงานเพิ่มเติมไปจากสัญญา ซึ่งโจทก์ต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งงานงวดที่ 14 และที่ 15 โจทก์ส่งมอบพร้อมกันภายหลังล่วงพ้นระยะเวลาก่อสร้างสิ้นสุดแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่างวดทั้งสองงวดให้โจทก์โดยไม่ปรากฏว่าในขณะรับมอบงานจำเลยที่ 1 ได้อิดเอื้อนหรือสงวดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับไว้ การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้บอกโจทก์แล้วว่าจะมีคนมาใช้ประโยชน์ในอาคารที่ก่อสร้างก็เป็นเพียงคำปรารภหาใช่เป็นการสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับไม่

การที่จำเลยที่ 1 รับมอบงานงวดที่ 14 และที่ 15 ทั้งที่ระยะเวลาก่อสร้างสิ้นสุดแล้วและให้โจทก์ก่อสร้างงานงวดที่ 16 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายต่อไป ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาเป็นสำคัญ ทั้งมีงานที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำนอกเหนือสัญญาด้วย จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าข้อสัญญาที่เกี่ยวกับการส่งมอบงานล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามสัญญานี้ โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างมีเจตนาให้ระงับกันไปไม่ถือเป็นการผิดสัญญา จึงทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับที่โจทก์ส่งมอบงานพ้นกำหนดเวลาสิ้นสุดตามสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคสาม และมาตรา 597