บอกเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้าง มีแบบหรือไม่

บอกเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้าง มีแบบหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 654/2541

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ที่ 2 ในสำนวนแรก และจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ที่ 1 ในสำนวนแรกและจำเลยที่ 2ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 เรียกโจทก์ที่ 3 ในสำนวนแรกและโจทก์ที่ 4 ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 ตามลำดับเรียกจำเลยที่ 5 ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 5 เรียกจำเลยที่ 6ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 6 และเรียกจำเลยในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนหลังว่า จำเลย

สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4เป็นเจ้าของรวมในที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 868 ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีเนื้อที่ 21 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินต่อไปและได้แจ้งให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 868 ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี และให้รื้อถอนบ้านเลขที่ 68/1 หมู่ที่ 3 ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ออกไปจากที่ดินดังกล่าวกับให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 2,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนบ้านออกไป

จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 มิใช่เจ้าของที่พิพาทจำเลยมีสิทธิอาศัยอยู่บนที่พิพาท ขอให้ยกฟ้อง

สำนวนที่สองจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งหกว่า จำเลยเป็นบุตรของนายมะหินและนางดอกบัว โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลย นายมะหินเป็นอัมพาตเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล มีอาการทรุดหนัก ไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติสัมปชัญญะ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกจับมือนายมะหินพิมพ์ลายนิ้วมือลงในพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง พินัยกรรมดังกล่าวจึงเป็นพินัยกรรมปลอมและเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายต่อมานายมะหินได้ถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อใน น.ส.3 ก. เลขที่ 868 ดังกล่าวจากชื่อนายมะหินเป็นชื่อโจทก์ที่ 1 แล้วจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้รับพินัยกรรมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2530เป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย และให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใน น.ส.3 ก. เลขที่ 868 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2537 ซึ่งโจทก์ที่ 1 กระทำในฐานะผู้จัดการมรดก และการโอนระหว่างโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใน น.ส.3 ก. เลขที่ 868 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2537ระหว่างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 กับโจทก์ที่ 5 ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใน น.ส.3 ก. เลขที่ 868, 1110,1111, 1112 และ 1113 ระหว่างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 กับโจทก์ที่ 6เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2537

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ยื่นคำให้การว่า ขณะทำพินัยกรรมนั้นนายมะหินมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีและพูดจารู้เรื่องกับแจ้งความประสงค์ต่อกรมการอำเภอและต่อหน้าพยานอีกสองคน พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์ เมื่อนายมะหินได้ถึงแก่กรรมที่ดินดังกล่าวตกเป็นมรดกแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ตามพินัยกรรม ต่อมาโจทก์ที่ 1ถึงที่ 4 จดทะเบียนแบ่งขายให้แก่โจทก์ที่ 5 และร่วมกันยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินออกเป็นคนละแปลงต่างหากจากกันและเจ้าพนักงานที่ดินมารังวัดแบ่งแยก ซึ่งจำเลยก็ทราบดีแต่มิได้โต้แย้งคัดค้านก่อนที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งหก โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ฟ้องจำเลยเพื่อขับไล่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินต่อศาลชั้นต้นคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ในคดีดังกล่าว จำเลยให้การต่อสู้ว่าพินัยกรรมที่นายมะหินทำยกที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นโมฆะเช่นเดียวกับคดีนี้ ฟ้องของจำเลยจึงเป็นฟ้องซ้ำขอให้ยกฟ้อง

โจทก์ที่ 5 ยื่นคำให้การว่า โจทก์ที่ 5 ได้ซื้อที่ดิน น.ส.5 ก.เลขที่ 868 ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีบางส่วนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 2 งาน จากโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 โดยจดทะเบียนประเภทถือกรรมสิทธิ์รวมโดยมีค่าตอบแทนและได้ยื่นคำร้องขอทำการแบ่งแยกทันที การรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวจำเลยทราบดีและไม่คัดค้าน และนำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ที่ 5 ซื้อที่ดินดังกล่าวโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์ที่ 6 ยื่นคำให้การว่า โจทก์ที่ 6 ซื้อที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 868 จากโจทก์ที่ 1 เลขที่ 1110 จากโจทก์ที่ 2 เลขที่ 1111และ 1112 จากโจทก์ที่ 3 และเลขที่ 1113 จากโจทก์ที่ 4โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนการซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยไม่ทราบว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 จะได้ที่ดินมาอย่างไร และโดยพินัยกรรมที่สมบูรณ์หรือเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นสั่งงดชี้สองสถานและให้โจทก์นำพยานเข้าสืบก่อนหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีตามคำขอของทนายจำเลย 2 ครั้ง ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยครั้งที่ 3 จำเลยและทนายจำเลยไม่มาศาลโดยทนายจำเลยมอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายมายื่นและขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยจงใจประวิงคดีและไม่นำพาต่อการดำเนินคดีถือได้ว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบแล้ววินิจฉัยว่าพินัยกรรมของนายมะหินเป็นพินัยกรรมแท้จริงเมื่อโจทก์ที่ 1ถึงที่ 4 รับโอนที่ดินตามพินัยกรรมมาแล้วได้แบ่งแยกและที่พิพาทซึ่งจำเลยปลูกบ้านอยู่บนที่ดินดังกล่าวได้ตกเป็นที่ดินของโจทก์ที่ 2โจทก์ที่ 2 เท่านั้นที่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยพิพากษาให้จำเลยพร้อมบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 68/1 หมู่ที่ 3ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ออกไปจากที่ดินน.ส.3 ก. เลขที่ 1109 ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี ของโจทก์ที่ 2 กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนบ้านดังกล่าวออกไป ให้ยกฟ้องของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่า จำเลยประวิงคดีถือได้ว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบและนัดฟังคำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่านายเฟื่องฟ้า เชิญขวัญศรี ขอถอนตัวจากการเป็นทนายความจำเลยย่อมแสดงว่านายเฟื่องฟ้าไม่ประสงค์จะว่าความหรือดำเนินคดีให้แก่จำเลยต่อไป การถอนตัวของนายเฟื่องฟ้าทำให้สัญญาจ้างว่าความระหว่างจำเลยกับนายเฟื่องฟ้าสิ้นสุดลง และการถอนตัวของนายเฟื่องฟ้าจำเลยมิได้ทราบมาก่อน ศาลสมควรแจ้งให้จำเลยทราบเพื่อจำเลยจะได้คัดค้านหรือหาทนายใหม่ จำเลยมิได้จงใจประวิงคดี แต่เป็นเรื่องทนายไม่แจ้งเรื่องให้จำเลยทราบทั้งศาลชั้นต้นมิได้แจ้งการถอนทนายให้จำเลย เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 65 นั้น เห็นว่าการจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งตามกฎหมายเรื่องจ้างทำของมิได้กำหนดวิธีการเกี่ยวกับการที่ผู้รับจ้างจะบอกเลิกสัญญาได้ ทั้งไม่ปรากฏข้อสัญญาระหว่างนายเฟื่องฟ้ากับจำเลยว่าจะเลิกสัญญากันอย่างไร ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 คือต้องแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อปรากฏว่านายเฟื่องฟ้ายังมิได้แสดงเจตนาแก่จำเลย สัญญาจ้างว่าความระหว่างนายเฟื่องฟ้าและจำเลยจึงไม่สิ้นสุดลง อนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นจะแจ้งการถอนตัวของทนายให้จำเลยทราบตามกฎหมายก็เฉพาะกรณีศาลชั้นต้นอนุญาตให้ทนายถอนตัวและจำเลยยังไม่ทราบเรื่องกรณีนี้ศาลชั้นต้นมิได้อนุญาตให้นายเฟื่องฟ้าถอนตัวจากการเป็นทนาย จึงไม่ใช่กรณีต้องแจ้งให้จำเลยทราบ คดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีมาสองนัดแล้วนัดแรกให้เลื่อนคดีเพราะทนายจำเลยป่วยครั้งที่สองให้เลื่อนคดีเพราะไม่มีพยานจำเลยมาศาลโดยไม่ทราบเหตุขัดข้อง ในครั้งนี้ทนายความมาขอยื่นคำร้องขอถอนตัวโดยจำเลยเองก็มิได้มาศาลทั้งที่เป็นวันนัดที่จำเลยต้องเบิกความต่อศาลและจำเลยก็มิได้มีพยานปากอื่นมาศาล พฤติการณ์การกระทำของจำเลยและทนายเห็นได้ชัดว่าจำเลยมุ่งประวิงคดี จำเลยจะอ้างว่าทนายจำเลยไม่แจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยเป็นคนบ้านนอกมาเป็นเหตุประวิงคดีไม่ได้ ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและฟังว่าจำเลยจงใจประวิงคดี ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุป

การจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งตามกฎหมายเรื่องจ้างทำของมิได้กำหนดวิธีการเกี่ยวกับการที่ผู้รับจ้าง จะบอกเลิกสัญญาได้ ทั้งไม่ปรากฏข้อสัญญาระหว่าง พ. ทนายความกับจำเลยว่าจะเลิกสัญญากันอย่างไร จึงต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 คือต้องแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อปรากฏว่า พ. ยังมิได้แสดงเจตนาแก่จำเลยสัญญาจ้างว่าความระหว่าง พ. และจำเลยจึงไม่สิ้นสุดลง การที่ศาลชั้นต้นจะแจ้งการถอนตัวของทนายให้จำเลยทราบ ตามกฎหมายก็เฉพาะกรณีศาลชั้นต้นอนุญาตให้ทนายถอนตัวและจำเลยยังไม่ทราบเรื่อง เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้อนุญาตให้ พ.ถอนตัวจากการเป็นทนาย จึงไม่ใช่กรณีต้องแจ้งให้จำเลยทราบ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีมาสองนัดแล้ว นัดแรกให้เลื่อนคดีเพราะทนายจำเลยป่วย ครั้งที่สองให้เลื่อนคดี เพราะไม่มีพยานจำเลยมาศาล ในครั้งนี้ทนายมายื่นคำร้องขอถอนตัว โดยจำเลยเองก็มิได้มาศาลทั้งที่เป็นวันนัดที่จำเลยต้องเบิกความและจำเลยก็มิได้มีพยานปากอื่นมาศาล พฤติการณ์การกระทำของจำเลยและทนายเห็นได้ชัดว่ามุ่งประวิงคดี จำเลยจะอ้างว่าทรายจำเลยไม่แจ้งให้จำเลยทราบและจำเลยเป็นคนบ้านนอกมาเป็นเหตุประวิงคดีไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและฟังว่าจำเลยจงใจประวิงคดีจึงชอบแล้ว