บทสันนิษฐานต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิครอบครอง

บทสันนิษฐานต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิครอบครอง

เกี่ยวกับสิทธิครอบครองนั้นมีบทสันนิษฐานของกฎหมายอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หลายมาตราด้วยกันโดยบทบัญญัติแต่ละมาตรานั้นก็เป็นบทบัญญัติต่างๆ ที่บัญญัติไว้เป็นลักษณะที่ต้องใช้ประกอบกับสิทธิครอบครองซึ่งบทบัญญัติต่างๆ เกี่ยวกับข้อสันนิษฐานของกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังนี้

1.มาตรา 1369 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน” มาตรานี้เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายเกี่ยวกับการยึดถือทรัพย์สินว่าบุคคลที่ยึดถือทรัพย์สินอยู่นั้นกฎหมายให้ถือว่าเป็นการยึดถือไว้เพื่อตน แต่อย่างไรก็ดีการที่จะได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานมาตรานี้จะต้องสามารถพิสูจน์เบื้องต้นต้องให้ได้ก่อนว่าตนเป็นผู้ยึดถือทรัพย์สินนั้น

2.มาตรา 1370 “ผู้ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าครอบครองโดยสุจริตโดยความสงบและโดยเปิดเผย” มาตรานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานของกฎหมายของผู้ครอบครองอันจะเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยเกี่ยวกับมาตรา 1376 , 1382 และ 1383 ต่อไป

3.มาตรา 1371 “ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดครอบครองทรัพย์สินเดียวกันสองคราว ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นได้ครอบครองติดต่อกันตลอดเวลา” มาตรานี้เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองทรัพย์สินเดียวกันติดต่อกันอันจะเป็นประโยชน์ในการนับระยะเวลาในการครอบครองปรปักษ์มาตรา 1382 ต่อไป

4.มาตรา 1372 “สิทธิซึ่งผู้ครอบครองใช้ในทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสิทธิซึ่งผู้ครอบครองมีตามกฎหมาย” มาตรานี้เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายเกี่ยวกับการใช้สิทธิของผู้ครอบครองทรัพย์สินว่าถ้าผู้ครอบครองทรัพย์สินใช้สิทธิใดๆ ในทรัพย์สินที่ครอบครองกฎหมายจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมาย

5.มาตรา 1373 “ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง” มาตรานี้เป็นข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับทะเบียนที่ดิน โดยคำว่า ทะเบียนที่ดินตามมาตรานี้ หมายถึงทะเบียนที่ดินที่เป็นโฉนดที่ดินและทะเบียนที่ดินที่มีสิทธิครอบครองอย่างเช่น ที่ดินที่มี น.ส. 3 หรือ น.ส. 3 ก. ส่วนที่ดินมือเปล่าที่มีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ตามกฎหมายแล้วถือว่าไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนที่ดินตามมาตรา 1373 ดังนั้น ที่ดินมือเปล่าที่มีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) จึงไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานดังกล่าว และยังรวมถึงที่ดินที่มีหนังสือการทำประโยชน์ (กสน. 5) ก็มิใช่อสังหาริมทรัพย์อันได้จดทะเบียนที่ดินตามมาตรา 1373 เช่นกัน เพราะเป็นเพียงหลักฐานซึ่งออกโดยส่วนจัดนิคมสหกรณ์ในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น

อย่างไรก็ตามบทสันนิษฐานของกฎหมายต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นตามกฎหมายแล้วถือเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมายเท่านั้นไม่ได้เป็นบทบังคับเด็ดขาดให้เป็นไปตามบทบัญญัตินั้นๆ เสียทีเดียว ดังนั้นจึงสามารถพิสูจน์ให้เป็นอย่างอื่นซึ่งแตกต่างกับบทสันนิษฐานของกฎหมายได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายวิศวะ

โทร 086-807-5928

อ่านบทความเพิ่มเติม https://www.englawyers.com/