จ้างก่อสร้างไม่มีสัญญาหลักฐาน ฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่

สัญญาจ้างก่อสร้างไม่มีหลักฐาน ฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2548

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 1,514,648.21 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและเฉพาะจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งและแก้ไขฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 713,810.85 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสอง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง (ที่ถูก คือ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2)

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 223,196.20 บาท แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้องโจทก์เสีย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ กับให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2538 จำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างบ้านในที่ดินของจำเลยทั้งสอง ตกลงค่าจ้างรวมสัมภาระวัสดุก่อสร้างเป็นเงิน 5,268,038 บาท กำหนดสร้างเสร็จวันที่ 18 มีนาคม 2539 วันทำสัญญาโจทก์ได้รับเงินล่วงหน้าจำนวน 526,803.80 บาท ค่าจ้างที่เหลือจำเลยทั้งสองจะชำระให้โจทก์ทันทีเมื่องานเสร็จไปตามงวด ในสัญญาจำเลยทั้งสองมีสิทธิจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหรือลดงานจากรูปแบบแปลนได้โดยต้องตกลงคิดราคากันใหม่เป็นคราว ๆ ไป ระหว่างก่อสร้างนั้นจำเลยทั้งสองได้สั่งแก้ไขเพิ่มเติมงานด้วยวาจาหลายครั้ง มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างด้วย ซึ่งงานส่วนที่เพิ่มเติมเกี่ยวกับเสาหลังบ้านและชายคารับบันได โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 2 จำนวน 310,618 บาท ส่วนค่าจ้างของงานที่จำเลยทั้งสองสั่งแก้ไขเพิ่มเติมด้วยลายลักษณ์อักษรเป็นเงิน 577,262 บาท โจทก์ก็ได้รับจากจำเลยที่ 2 แล้ว ต่อมาเดือนกันยายน 2538 โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 2 เป็นค่าจ้างของงานงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 6 และต้นเดือนธันวาคม 2538 โจทก์ได้ขอเบิกเงินสำหรับงานงวดที่ 7 ต่อโจทก์ จำเลยปฏิเสธ จำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้บุคคลอื่นทำงานที่เหลือต่อไปจนแล้วเสร็จ คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีจำเลยที่ 2 ได้รู้เห็นโดยเป็นพยานลงชื่อในสัญญาจ้างก่อสร้างบ้านลงในที่ดินของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 รู้เห็นยินยอมและมุ่งผูกพันในสัญญาก่อสร้างกับโจทก์ในฐานะอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ลงชื่อคู่สัญญาในสัญญาจ้างผู้เดียวก็ตาม หนี้ค่าก่อสร้างบ้านที่จำเลยทั้งสองมุ่งหมายจะได้อยู่อาศัยต่อไปย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 แม้จะไม่ได้ลงชื่อในสัญญาก็ตาม ดังนี้โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ให้ร่วมรับผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาในข้อนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 655,281.65 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนฟ้องแย้งระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.

สรุป

จำเลยที่ 1 เป็นสามีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างบ้านลงบนที่ดินของจำเลยทั้งสองเพื่อพักร่วมกันกับจำเลยที่ 2 ทั้งข้อเท็จจริงตามที่ฟังได้ความยังปรากฏว่าระหว่างดำเนินการก่อสร้างจำเลยทั้งสองยังร่วมกันเข้าไปตรวจดูความเรียบร้อยของงาน มีการสั่งให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องและแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบ แม้จำเลยที่ 2 จะลงลายมือในสัญญาฐานะผู้ว่าจ้างก็ตาม แต่พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นยินยอมและมุ่งผูกพันตนตามสัญญากับโจทก์ หนี้ค่าก่อสร้างบ้านจึงผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2