ค่าใช้จ่ายในฟ้องร้องคดี และค่าดำเนินการ เรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

ค่าใช้จ่ายในฟ้องร้องคดี และค่าดำเนินการ เรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2147/2551

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2546 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้เย็บเสื้อผ้าหลายราคา แต่จำเลยชำระเงินค่าจ้างบางส่วนคงค้างชำระโจทก์เป็นเงิน 5,804 บาท และโจทก์ยังได้รับความเสียหาย โดยเสียค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามค่าเดินทางไปขอคัดเอกสารที่กระทรวงพาณิชย์ ค่าใช้จ่ายในการหางานทำ ค่าดูแลลูกจ้าง ค่าที่โจทก์ไม่มีงานทำ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและบังคับคดีรวมเป็นค่าเสียหาย 65,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างและค่าเสียหายเป็นเงิน 70,804 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์เย็บเสื้อผ้า และไม่มีหนี้ค้างชำระโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายและไม่มีสิทธิเรียกจากจำเลย ค่าเสียหายตามฟ้องโจทก์เรียกมาเป็นจำนวนสูงเกินความจริง ค่าเสียหายถ้าหากมีคงไม่เกิน 2,000 บาท และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 5,804 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 200 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 800 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ให้เย็บเสื้อผ้าและผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้างบางส่วนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 5,804 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ ค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีและดำเนินคดีทั้งสามศาลรวมถึงการบังคับคดีหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 บัญญัติว่า “การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ได้แก่การเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว เห็นว่า ค่าเสียหายเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้ซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดนั้นเป็นค่าเสียหายซึ่งเป็นผลธรรมดาหรือผลโดยตรงจากการไม่ชำระหนี้ แต่ค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้และฟ้องคดี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฟ้องอุทธรณ์ฎีกาและบังคับคดีมิใช่ผลเกิดขึ้นโดยตรงจากการผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ และไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษอันลูกหนี้อาจคาดเห็นหรือควรได้คาดเห็น ทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้ฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ที่โจทก์ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติให้ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่อย่างไรก็ดีให้เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง คดีนี้โจทก์เป็นผู้อุทธรณ์และเป็นฝ่ายแพ้คดีในชั้นอุทธรณ์ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เป็นพับจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

ค่าเสียหายเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้ซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดนั้นเป็นค่าเสียหายซึ่งเป็นผลธรรมดาหรือผลโดยตรงจากการไม่ชำระหนี้ แต่ค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้และฟ้องคดี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฟ้องอุทธรณ์ฎีกาและบังคับคดีมิใช่ผลเกิดขึ้นโดยตรงจากการผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ และไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษอันลูกหนี้อาจคาดเห็นหรือควรได้คาดเห็น ทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้ฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าว

ป.วิ.พ. มาตรา 161 บัญญัติให้ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่อย่างไรก็ดีให้เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง โจทก์เป็นผู้อุทธรณ์และเป็นฝ่ายแพ้คดีในชั้นอุทธรณ์การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เป็นพับจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว