ค่าปรับในกรณีที่จำเลยส่งมอบงานล่าช้าเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่ง

ค่าปรับในกรณีที่จำเลยส่งมอบงานล่าช้าเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 66/2542

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนอนุบาลปทุมธานี แต่จำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารเรียนตามสัญญาไม่แล้วเสร็จตามกำหนด โจทก์จึงได้แจ้งเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างแก่จำเลยทั้งสอง และแจ้งสงวนสิทธิในการเรียกค่าปรับและค่าเสียหายไว้ด้วย โจทก์ขอเรียกค่าปรับวันละ 1,939.50 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2534ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2534 เป็นเวลา 168 วัน เป็นเงิน325,836 บาท ต่อมาโจทก์ได้จ้างเหมาบริษัทเพนด้า จำกัดทำการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนอนุบาลปทุมธานีต่อจากจำเลยทั้งสอง ทำให้โจทก์ต้องจ่ายเงินค่าจ้างเพิ่มขึ้นจำนวน 1,267,350 บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,058,756.41 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นฝ่ายผิดนัดหรือผิดสัญญาหลังจากทำสัญญาจ้างแล้วปรากฏว่าสถานที่ก่อสร้างไม่พร้อมที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าไปก่อสร้างเนื่องจากยังไม่ได้รื้อถอนอาคารเรียนหลังเดิมออกไปทำให้จำเลยทั้งสองเข้าไปดำเนินการก่อสร้างล่าช้าทั้งราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นและวัสดุก่อสร้างบางอย่างขาดแคลน จำเลยทั้งสองไม่สามารถซื้อมาใช้งานได้ เป็นเหตุให้คนงานก่อสร้างลาออกไปทำงานอย่างอื่น ทำให้จำเลยทั้งสองไม่สามารถก่อสร้างอาคารเรียนตามสัญญาได้ ซึ่งเป็นเพราะความผิดของโจทก์ทั้งสิ้น จำเลยทั้งสองได้ชำระเงินค่าปรับให้แก่โจทก์ไปแล้วตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารจำนวน96,975 บาท แต่โจทก์ไม่ได้คิดหักเงินจำนวนดังกล่าวออกด้วยโจทก์จ้างบริษัทเพนด้า จำกัด ทำการก่อสร้างเป็นเงินสูงเกินไปคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,170,375 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินจำนวน520,375 บาท และจำนวน 650,000 บาท นับแต่วันที่30 พฤศจิกายน 2535 และวันที่ 29 มกราคม 2536 ตามลำดับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินอีกจำนวน 84,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2531 โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1ก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนอนุบาลปทุมธานี ในราคา 1,939,500 บาท จำเลยที่ 1 ได้ทำหลักประกันเป็นหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารเป็นเงิน 96,975 บาท มอบให้โจทก์เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา กำหนดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จในวันที่ 24 กันยายน 2532 ต่อมาจำเลยทั้งสองได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาการก่อสร้างหลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายกำหนดให้แล้วเสร็จในวันที่ 14 มกราคม 2534 แต่จำเลยทั้งสองก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามเวลาที่ขยายให้ โจทก์ได้เร่งรัดการก่อสร้างและแจ้งจำเลยทั้งสองว่าขอสงวนสิทธิในการปรับตามสัญญา ครั้นวันที่ 8 กรกฎาคม 2534 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองโดยให้มีผลเลิกสัญญานับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2534 และปรับวันละ 1,939.50 บาท นับตั้งแต่วันที่ 15มกราคม 2534 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2534 เป็นเวลา 168 วันปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าค่าปรับรายวันที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้วันละ 500 บาท รวม 168 วัน เป็นเงินจำนวน 84,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ยังไม่เหมาะสมและไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยโจทก์ฎีกาว่าตามสัญญาข้อ 19 คู่สัญญาได้แสดงเจตนาไว้ชัดแจ้งว่าถ้าจำเลยทั้งสองส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จจำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์ดำเนินการปรับเป็นรายวัน วันละ 1,939.50 บาท อันเป็นอัตราที่เหมาะสมและเป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญา แต่ศาลล่างทั้งสองพิจารณาแล้วกลับวินิจฉัยว่าโจทก์เรียกค่าปรับมาสูงเกินส่วนนั้น เห็นว่าเงินค่าปรับในกรณีที่จำเลยทั้งสองส่งมอบงานล่าช้าดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่งเพราะถือเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้เหมาะสมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคหนึ่ง และศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าปรับมาเหมาะสมแล้วไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า หลักประกันซึ่งเป็นสัญญาค้ำประกันของธนาคารที่โจทก์รับชำระจากธนาคารไว้เป็นจำนวนเงิน 96,975 บาทไม่ชอบที่จะนำมาหักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 1,267,350 บาทโดยโจทก์ฎีกาว่าค่าเสียหายในส่วนหลักประกันสัญญานี้เป็นค่าเสียหายโดยตรงตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 20(1)เช่นเดียวกับค่าเสียหายตามสัญญาข้อ 20(2) ที่แยกจากกันโดยชัดแจ้งเป็นค่าเสียหายคนละส่วนกันนั้น เห็นว่า เงินตามสัญญาค้ำประกันของธนาคารจำนวน 96,975 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองใช้เป็นหลักประกันสัญญาจ้างที่โจทก์รับชำระไว้จากธนาคารได้มีการระบุไว้ในสัญญาจ้าง ข้อ 3 ว่า ให้ใช้เงินนี้เพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติงานรับจ้างของจำเลยทั้งสองตามสัญญาเงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินมัดจำที่โจทก์จะริบได้เมื่อจำเลยทั้งสองผิดสัญญา แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญา ดังนั้น เงินจำนวนนี้จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำไปหักกับยอดเงินค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าปรับที่ศาลได้กำหนดให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 380 วรรคสอง

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จตามสัญญาเป็นความผิดของโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองอ้างว่าในขณะที่ลงลายมือชื่อในสัญญาโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวในเรื่องอุปสรรคของการทำงานนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายเข้ารับเหมาก่อสร้างจึงเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่จะต้องสำรวจสถานที่ก่อสร้างให้เรียบร้อยและหากมีสิ่งใดที่เป็นอุปสรรคย่อมต้องทำสัญญาโดยกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ก่อน ทั้งในการรื้ออาคารเรียนหลังเดิมโจทก์ก็ได้รื้อถอนจนเสร็จและมีหนังสือบอกกล่าวตามเอกสารหมาย จ.10แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบ แต่จำเลยทั้งสองก็ยังไม่เข้าไปทำงาน โจทก์ต้องบอกกล่าวซ้ำไปอีกครั้งจำเลยทั้งสองจึงได้เข้าทำงานหลังจากบอกกล่าวครั้งแรกโดยล่าช้าไปถึง 2 เดือนเศษ สำหรับวัสดุก่อสร้างขึ้นราคาก็เป็นความผิดของจำเลยทั้งสองที่ไม่ได้เตรียมการหาวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างไว้ล่วงหน้าและให้ได้มาตรฐานตามที่ทางราชการกำหนดซึ่งจำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้าในแบบแปลนการก่อสร้างก่อนแล้วสำหรับปัญหาเรื่องนำเสาเข็มเข้าไปยังที่ก่อสร้างไม่ได้และไม่มีคนงานก่อสร้างนั้น ล้วนแล้วเป็นผลจากการกระทำของจำเลยทั้งสองทั้งสิ้น และยังมีมติของคณะรัฐมนตรีให้ขยายระยะเวลาแก่จำเลยทั้งสองในการก่อสร้างถึง 3 ครั้ง รวม 477 วันซึ่งเป็นระยะเวลานานพอที่จำเลยทั้งสองควรจะก่อสร้างได้เสร็จแต่จำเลยทั้งสองก็ยังไม่เร่ง ก่อสร้างให้แล้วเสร็จทันกำหนดตามสัญญาโจทก์จึงไม่มีส่วนในการที่ทำให้งานก่อสร้างต้องชะงักล่าช้าไปแต่อย่างใด ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาจำเลยทั้งสองมีว่าการที่โจทก์จ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างต่อจากจำเลยทั้งสองในราคาที่แพงขึ้นเกือบถึง 2 เท่าตัวในปริมาณงานเท่ากัน แล้วมาเรียกเอาส่วนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากจำเลยทั้งสอง เป็นการเอาเปรียบจำเลยทั้งสองหรือไม่นั้นเห็นว่า โจทก์ได้จัดให้มีการประกวดราคาค่าก่อสร้างในงานส่วนที่ต้องก่อสร้างต่อจากจำเลยทั้งสองถูกต้องตามระเบียบทุกประการ เมื่อบริษัทเพนด้า จำกัด ชนะการประกวดราคาในราคา 2,625,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสมในเวลาขณะนั้นแล้ว กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการเอาเปรียบจำเลยทั้งสอง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าจ้างก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเพราะการจ้างบุคคลอื่นก่อสร้างอาคารต่อจากจำเลยทั้งสองตามสัญญาข้อ 20(2) ได้ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองมีว่า คดีนี้ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีผิดสัญญาจ้างทำของขอเรียกค่าปรับรายวันและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการที่โจทก์จ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างต่อจากจำเลยทั้งสองอันเป็นสิทธิเรียกร้องที่กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาจ้างและโจทก์บอกเลิกสัญญาตั้งแต่ปี 2534 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่25 เมษายน 2537 จึงไม่ขาดอายุความ”

พิพากษายืน

สรุปเงินค่าปรับในกรณีที่จำเลยส่งมอบงานล่าช้าเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่ง เพราะถือเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ ล่วงหน้าเมื่อไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ศาลมีอำนาจ ใช้ดุลพินิจกำหนดให้เหมาะสมได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง สัญญาจ้างก่อสร้างระบุว่า เงินตามสัญญาค้ำประกันของธนาคารที่โจทก์รับชำระไว้จากธนาคารนั้นเป็นหลักประกันในการปฏิบัติงานรับจ้างของจำเลย จึงไม่ใช่เงินมัดจำที่โจทก์จะริบได้เมื่อจำเลยทั้งสองผิดสัญญา แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธินำเงินจำนวนนี้ไปหักกับยอดเงินค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าปรับที่ศาลได้กำหนดให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 380 วรรคสอง โจทก์ประกวดราคาค่าก่อสร้างในงานส่วนที่ต้องสร้างต่อจากจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าจ้างก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเพราะการจ้างบุคคลอื่นก่อสร้างอาคารต่อจากจำเลยได้ตามสัญญา ไม่ถือเป็นการเอาเปรียบจำเลย โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีผิดสัญญาจ้างทำของขอเรียกค่าปรับรายวันและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการที่โจทก์จ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างต่อจากจำเลย สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30