ก่อสร้างไม่ตรงตามสัญญา บอกเลิกสัญญาได้หรือไม่

ก่อสร้างไม่ตรงตามสัญญา บอกเลิกสัญญาได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5891/2533

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ว่าจ้างให้โจทก์ทำการก่อสร้างถนนและสะพาน ซึ่งจะต้องสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ สะพาน การคิดค่าจ้างโจทก์จำเลยตกลงกันคิดตามเนื้องาน สำหรับสะพานทั้งสองคิดเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ทำงานเสร็จโดยถูกต้องแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมรับงานและไม่จ่ายเงินค่าจ้างก่อสร้างสะพานทั้งสอง ขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมค่าเสียหายรวม ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ทำงานให้เสร็จบริบูรณ์ตามสัญญากล่าวคือสะพานที่กิโลเมตรที่ ๔ + ๕๐๗ พบว่ามีรอยร้าวตลอดแนวสะพานและกำลังอัดของสะพานคอนกรีตไม่ได้ตามข้อกำหนด ส่วนสะพานกิโลเมตรที่ ๔ + ๙๑๑ การก่อสร้างฐานรากผิดแบบจากสัญญา จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขแล้ว โจทก์บ่ายเบี่ยงไม่จัดการให้ จำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่สามารถแก้ไขซ่อมแซมได้แล้ว เป็นการไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ต่อไป จึงบอกเลิกสัญญา ขอให้ศาลยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ศาลพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ก่อสร้างสะพานทั้งสองไม่ตรงตามสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิไม่รับมอบงานและบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยมิได้ผิดสัญญา แต่ได้ความว่าเมื่อโจทก์ก่อสร้างสะพานทั้งสองเสร็จ ประชาชนได้ใช้ถนนและสะพานทั้งสองมาตลอดเป็นเวลามากกว่า ๒ ปี ยังไม่ปรากฏความเสียหายของสะพานทั้งสอง แสดงว่าแม้โจทก์จะก่อสร้างสะพานทั้งสองบกพร่องและไม่ตรงตามแบบ แต่งานบางส่วนได้มาตรฐานและส่วนที่ผิดแบบก็ยังใช้งานได้บ้างซึ่งจำเลยเองก็ยอมรับว่างานที่บกพร่องของโจทก์นี้สามารถที่จะแก้ไขได้ ดังนั้นการที่จำเลยจะไม่จ่ายเงินค่าก่อสร้างสะพานทั้งหมดให้แก่โจทก์ จึงไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เพราะการที่จำเลยปล่อยให้ประชาชนใช้สะพานทั้งสองได้ เป็นการที่จำเลยเอาผลงานของโจทก์ที่สมบูรณ์ออกใช้ประโยชน์แล้ว ส่วนโจทก์สมควรจะได้รับเงินค่าก่อสร้างสะพานเท่าใดนั้น เห็นว่า สะพานที่กิโลเมตรที่ ๔ + ๕๐๗ จำเลยจ้างโจทก์ก่อสร้างราคา ๔๐๐,๐๐๐ บาทจากการที่ศาลได้เดินเผชิญสืบได้ความว่า บนสะพานสภาพปกติไม่มีรอยร้าวหรือบุบสลาย แต่มีรอยอุดรูซึ่งจำเลยเจาะพื้นคอนกรีตไปตรวจวิเคราะห์ ส่วนสภาพใต้พื้นสะพานมีรอยเส้นคล้ายรอยแตกงาเท่าเส้นผมขวางสะพาน ๓ เส้น และด้านยาว ๑ เส้น ซึ่งจำเลยอ้างว่าการซ่อมแซมจะต้องรื้อพื้นสะพานแล้วเทคอนกรีตใหม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้จัดให้ มีการประมูลซ่อมแซมแก้ไขสะพานทั้งสองแต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้เข้าประกวดราคาหรือไม่ และคิดค่าซ่อมแซมเท่าใด เห็นว่า สะพานนี้ถ้าจะซ่อมแซมให้มีสภาพดีสมบูรณ์ตามสัญญาแล้วจะใช้เงินไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์จึงสมควรได้รับเงินค่าก่อสร้างสะพานนี้จากจำเลย ๓๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนสะพานที่กิโลเมตรที่ ๔ + ๙๑๑ จำเลยจ้างโจทก์ก่อสร้างราคา ๖๐๐,๐๐๐ บาท ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้เสนอให้โจทก์แก้ไขโดยปูเคเบี้ยน คือทำกล่องตะแกรงเหล็กปูที่พื้นดินบริเวณเสาตอม่อแล้วเอาหินวางทับเพื่อป้องกันมิให้น้ำกัดเซาะตอม่อและตลิ่ง บริเวณนั้น และโจทก์ได้ว่าจ้างโรงงานสรีอำพล ให้ทำตะแกรงเหล็กดังกล่าวในราคาเกือบ ๒๐๐,๐๐๐บาท และขอให้จำเลยไปตรวจสอบว่าจะใช้ได้หรือไม่ แต่จำเลยได้บอกเลิกสัญญาเสียก่อนซึ่งในข้อที่ว่าโจทก์ตอกเสาเข็มตอม่อกลางน้ำผิดจากแบบนั้น โจทก์อ้างว่าแบบตอกเสาเข็มดังกล่าวหายจึงไปขอคำแนะจากนายมรกตช่างควบคุมการก่อสร้างของจำเลย นายมรกตสั่งให้ตอกเสาเข็มเดี่ยว ซึ่งนายมรกตเบิกความว่ารู้และเห็นโจทก์ตอกเสาเข็มเดียวจริง ที่ไม่ได้ทักท้วงหรือห้ามปรามเพราะนายศราวุธช่างผู้ควบคุมงานของโจทก์บอกว่าเป็นไปตามแบบแล้ว และรับว่าไม่ได้นำแบบมาตรวจดู การตอกเสาเข็มผิดนี้ตนเองก็มีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วย จึงฟังได้ว่าการตอกเสาเข็มผิดครั้งนี้เกิดจากช่องของโจทก์ตอกเสาเข็มโดยไม่ดูแบบว่าให้ตอกเสาเข็มแบบใด และช่างของจำเลยควบคุมการตอกเสาเข็มโดยไม่ดูแบบเช่นกัน โดยคนทั้งสองเข้าใจว่าการตอกเสาเข็มครั้งนี้ตรงตามแบบในสัญญาแล้ว แม้ความผิดพลาดครั้งนี้จะเกิดจากความประมาทเลินเล่อของฝ่ายโจทก์ แต่ก็เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องของช่างควบคุมของจำเลยด้วยชอบที่จำเลยจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นเห็นสมควรให้จำเลยชำระค่าก่อสร้างสะพานดังกล่าวนี้ให้โจทก์๕๐๐,๐๐๐ บาท

พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินค่าก่อสร้างสะพานทั้งสองให้โจทก์รวมเป็นเงิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ.

สรุป

โจทก์ก่อสร้างสะพานไม่ตรงตามสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิไม่รับมอบงานและบอกเลิกสัญญาได้ แต่เมื่อโจทก์ก่อสร้างสะพานเสร็จ ประชาชนได้ใช้ถนนและสะพานมาตลอดเป็นเวลามากกว่า 2 ปี ยังไม่ปรากฏความเสียหายของสะพานแสดงว่าแม้โจทก์จะก่อสร้างสะพานบกพร่องและไม่ตรงตามแบบ แต่งานบางส่วนได้มาตรฐานและส่วนที่ผิดแบบก็ยังใช้งานได้บ้าง การที่จำเลยปล่อยให้ประชาชนใช้สะพานได้เป็นการที่จำเลยเอาผลงานของโจทก์ที่สมบูรณ์ออกใช้ประโยชน์ โจทก์สมควรจะได้รับเงินค่าก่อสร้างบางส่วน

การที่โจทก์ตอก เสาเข็มตอม่อ กลางน้ำผิดจากแบบเกิดจากช่างของโจทก์ตอก เสาเข็มโดยไม่ดูแบบว่าให้ตอก เสาเข็มแบบใด และช่างของจำเลยควบคุมการตอก เสาเข็มโดยไม่ดูแบบเช่นกัน โดยคนทั้งสองเข้าใจว่าการตอก เสาเข็มตรงตามแบบในสัญญาแล้ว แม้ความผิดพลาดจะเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ แต่ก็เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องของช่างควบคุมงานของจำเลยด้วย จำเลยจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น.