ก่อนสร้างรั้วบ้าน ตามกฎหมาย ต้องพิจารณาสิ่งใดบ้าง

ก่อนสร้างรั้วบ้าน ตามกฎหมาย ต้องพิจารณาสิ่งใดบ้าง

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่านวันนี้ ทีมงานทนายวิศวะโดยทนายสมยศ ไชยผล หัวหน้าสำนักงานจะมาขออธิบายเกี่ยวกับก่อนสร้างรั้วบ้าน ตามกฎหมายต้องพิจารณาสิ่งใดบ้าง

          สำหรับบ้านในประเทศไทยแล้วนั้นรั้วบ้านเป็นสิ่งที่แทบทุกบ้านจะต้องมีเพราะนอกจากจะใช้เป็นสิ่งที่สามารถใช้แสดงแนวเขตของที่ดินได้แล้ว รั้วบ้านยังมีส่วนส่วนในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยในส่วนของรั้วบ้านนั้นกฎหมายได้มีการกำหนดระยะและความสูงของรั้วบ้านไว้อยู่ ทั้งนี้ไม่ว่ารั้วบ้านนั้นจะทำจากวัสดุที่มีลักษณะโปร่งหรือทึบแสงก็ตามรวมทั้งกำแพงด้วย ในส่วนของการสร้างรั้วบ้านนั้นจะต้องมีการขออนุญาตก่อสร้างหรือไม่ หรือต้องเว้นระยะห่างหรือระยะร่นอย่างใดหรือไม่นั้น ด้านข้อกฎหมายมีข้อที่สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้

1.กรณีที่สร้างรั้วบ้านด้านที่ติดกับที่ดินของเอกชน การสร้างรั้วบ้านไม่ว่าจะเป็นรั้วแบบทึบแสง โปร่งแสง หรือเป็นการก่อกำแพงในด้านที่ติดกับที่ดินของเอกชนอื่นนั้น สามารถก่อสร้างได้ไม่ต้องมีการขออนุญาตก่อสร้างเนื่องจากไม่มีกฎหมายบังคับไว้ และสามารถก่อสร้างได้สุดแนวเขตของที่ดินแต่จะล้ำไปยังที่ดินของผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ตกลงกับเจ้าของที่ดินข้างเคียงซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่าจะสร้างรั้วหรือกำแพงขึ้นมาใช้ร่วมกันก็จะสามารถสร้างรั้วโดยให้อยู่บนกึ่งกล่างของแนวเขตที่ดินทั้งสองแปลงได้โดยถือว่ารั้วหรือกำแพงที่ตั้งอยู่ระหว่างกึ่งกลางที่ดินเป็นทรัพย์สินที่ใช้ร่วมกัน

1.1จากกรณีที่สร้างรั้วบ้านด้านที่ติดกับที่ดินของเอกชนนั้นมีข้อยกเว้นที่ต้องมีการขออนุญาตก่อสร้างอยู่คือ กรณีที่จะสร้างรั้วหรือกำแพงที่มีความสูงจากระดับฐานตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป จะต้องมีการขออนุญาตก่อสร้างก่อนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4 (5) ประกอบกฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ข้อ 1 (5)

2.กรณีที่สร้างรั้วบ้านด้านที่ติดกับที่สาธารณะ การสร้างรั้วบ้านในกรณีนี้จะต้องมีการขออนุญาตก่อสร้างเท่านั้น กรณีดังกล่าวสามารถสร้างรั้วหรือกำแพงได้สุดเขตของที่ดินของตนได้เช่นกันโดยไม่ต้องเว้นระยะร่นแต่อย่างใด แต่ห้ามมิให้มีส่วนใดๆ ล้ำไปในที่สาธารณะและฐานรากของรั้วหรือกำแพงนั้นจะต้องอยู่ในที่ดินของตนเองด้วยจะล้ำเข้าไปในที่สาธารณะไม่ได้

2.1แม้รั้วหรือกำแพงด้านที่ติดกับที่สาธารณะจะไม่ต้อร่นระยะ แต่หากเป็นกรณีที่รั้วหรือกำแพงมีความสูง 3 เมตรขึ้นไป จะต้องมีการร่นระยะให้ห่างจากที่สาธารณะตามความสูงของรั้วด้วย ตาม ข้อ 47 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 55 พ.ศ. 2543 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ส่วนในเขตกรุงเทพมหานครนั้นรั้วหรือกำแพงสามารถมีความสูงได้ไม่เกิน 2 เมตร เท่านั้น ตามข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ข้อ 50

อนึ่ง ทั้งในกรณี 1. และ 2. รั้วหรือกําแพงที่อยู่มุมถนนสาธารณะที่มีความกว้างตังแต่ 3 เมตรขึ้นไป และมีมุมหักน้อยกว่า 135 องศา ต้องปาดมุมรั้วหรือกําแพงนั้นด้วย โดยให้ส่วนที่ปาดมุมมีระยะไม่น้อยกว่า 4 เมตร และทํามุมกับแนวถนนสาธารณะ เป็นมุมเท่า ๆ กันด้วย ตามข้อ 5 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 55 พ.ศ. 2543 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายวิศวะ

โทรโทร 086-807-5928