การยื่นคำร้องขออนุญาตก่อสร้าง ถือเป็นแบบของนิติกรรมหรือไม่

การยื่นคำร้องขออนุญาตก่อสร้าง ถือเป็นแบบของนิติกรรมหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16273/2557

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คืนสิทธิในเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างลำดับที่ 313-324 ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 2191 ตำบลบางพรม อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ตามบัญชีการกำหนดค่าทดแทนที่ดินและพืชผลต้นไม้ที่ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาล สายเชื่อมระหว่างถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพุทธมณฑลสาย 4 พ.ศ.2539 ให้แก่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 แก้ไขชื่อผู้มีสิทธิรับเงินค่าทดแทนราคาสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวในบัญชีการกำหนดค่าทดแทนจากชื่อจำเลยที่ 2 และนายเทียนหยด เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ส่งเงินค่าทดแทนตามสิทธิของจำเลยที่ 1 จำนวน 4,712,226 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,115,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องถึงวันที่ส่งเงินดังกล่าวไปยังกรมบังคับคดี ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7857/2541 ของศาลแพ่งธนบุรี

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 4,712,226 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 3,115,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีหมายเลขดำที่ 3385/2541 คดีหมายเลขแดงที่ 7857/2541 ของศาลแพ่งธนบุรี กับให้จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์

จำเลยที่ 5 และที่ 6 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ว่า จำเลยที่ 2 และนายเทียนหยดเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจากการเวนคืนอาคารหรือไม่ เห็นว่า คำขออนุญาตก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 2 และนายเทียนหยดตามสำเนาคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร นอกจากจะปรากฏว่า อาคารที่ขออนุญาตก่อสร้างมีที่ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 68838 และ 2191 ตำบลบางเชือกหนัง อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของนายมะเดื่อ นายลั่นทม์และนายน้ำตาลตามทางนำสืบของคู่ความแล้ว ข้อเท็จจริงยังได้ความว่าจำเลยที่ 2 และนายมะเดื่อ ได้ระบุจุดประสงค์ของการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย – ร้านค้า ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงลักษณะของอาคารที่ตั้งของอาคารและประโยชน์ใช้สอยของอาคารตามภาพถ่ายแผ่นปลิวโฆษณา ที่จำเลยที่ 1 จัดทำขึ้น จะเห็นได้ว่าอาคารที่จำเลยที่ 2 และนายเทียนหยดขออนุญาตก่อสร้างเป็นรูปแบบของอาคารสำนักงานพร้อมพักอาศัยที่ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 68838 และ 2191 ในโครงการ “เศรษฐีวงแหวน” ของจำเลยที่ 1 ตรงตามคำโฆษณาในภาพถ่ายแผ่นปลิวดังกล่าว ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาจะขายอาคารสำนักงานพักอาศัยพร้อมที่ดินในโครงการของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ตามสำเนาสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และหลังจากนั้นจำเลยที่ 2 และนายเทียนหยดก็ได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารบนที่ดินสองแปลงในโครงการ “เศรษฐีวงแหวน” ในระยะเวลาต่อเนื่องกันไปเช่นนี้ นับเป็นพยานหลักฐานที่บ่งชี้อีกประการหนึ่งว่า จำเลยที่ 2 และนายเทียนหยดมิได้ตั้งใจที่จะก่อสร้างอาคารเพื่อกิจการของตนเอง แม้จำเลยที่ 2 และนายเทียนหยดจะยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารในนามส่วนตัวดังที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ฎีกา แต่เมื่ออาคารดังกล่าวอยู่ในโครงการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ประกอบกับจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบโต้แย้งหักล้างหรือฎีกาต่อสู้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยส่วนตัวของจำเลยที่ 2 และนายเทียนหยด พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 และนายเทียนหยดที่วินิจฉัยมาข้างต้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 และนายเทียนหยดขออนุญาตก่อสร้างอาคารในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของจำเลยที่ 1 ดังที่โจทก์นำสืบ ที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ฎีกาว่า การนำสืบของโจทก์ในประเด็นเรื่องจำเลยที่ 2 และนายเทียนหยดเป็นตัวแทนขออนุญาตก่อสร้างอาคารแทนจำเลยที่ 1 เป็นการนำสืบที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 จึงต้องห้ามไม่ให้รับฟังนั้น เห็นว่า การยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่อทางราชการมิใช่แบบของนิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์จึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และนายเทียนหยดเป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการขออนุญาตก่อสร้างอาคารได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวและเมื่ออาคารรวม 12 หลังที่ถูกทางราชการเวนคืนเป็นอาคารที่อยู่ในโครงการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนการเวนคืนอาคารแต่เพียงผู้เดียว ที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ฎีกาต่อไปว่า อาคารที่ถูกเวนคืนไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งเมื่อจำเลยที่ 5 จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเทียนหยดที่เสียชีวิตรับไปแล้ว กรณีไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 หรือผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านคดีจึงฟังว่าจำเลยที่ 5 จ่ายเงินค่าทดแทนไปโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า อาคารที่ถูกเวนคืนตั้งอยู่บนที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นที่ยินยอมให้อาคารนั้นตั้งอยู่ อาคารดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินและไม่มีเอกสารสิทธิตามกฎหมายที่แสดงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของอาคารประกอบกับโจทก์มีหนังสือโต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน จำเลยที่ 5 ซึ่งมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนจึงควรไต่สวนค้นหาความจริงให้รอบด้านว่าผู้ใดเป็นเจ้าของอาคารตามความเป็นจริงหรือมิฉะนั้น จำเลยที่ 5 ก็ควรรอคำวินิจฉัยของศาลตามคำร้องขอของโจทก์ แต่จำเลยที่ 5 มิได้กระทำเช่นนั้น การที่จำเลยที่ 5 ด่วนจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 2 ไปโดยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มิใช่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจำเลยที่ 5 จึงไม่อาจอ้างได้ว่าจ่ายเงินค่าทดแทนไปโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่จำเลยที่ 1 ไม่คัดค้านการรับเงินค่าทดแทนของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลที่มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลมีผลประโยชน์ส่วนตัวทับซ้อนกับผลประโยชน์ของนิติบุคคล การที่จำเลยที่ 2 ไม่ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของนิติบุคคลอย่างตรงไปตรงมาจึงมิใช่เรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย ที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ฎีกาอีกว่า เมื่อจำเลยที่ 5 จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 แล้ว เงินดังกล่าวจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการ และโจทก์จะเรียกให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีอีกไม่ได้ โดยโจทก์ต้องไปเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 2 เองเพราะจำเลยที่ 2 รับเงินไว้แทนจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวแทน เมื่อจำเลยที่ 2 รับเงินค่าทดแทนอันเกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนแล้วไม่ยอมส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 810 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสำเนาคำพิพากษา และต้องเสียประโยชน์จากการเพิกเฉยของจำเลยที่ 1 ก็ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนเองแทนจำเลยที่ 1 เพื่อป้องกันสิทธิของตนได้ตามมาตรา 233 ในขณะเดียวกันเมื่อจำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่แท้จริง และจำเลยที่ 1 เพิกเฉยทั้งไม่ทวงถามเอาจากจำเลยที่ 5 และที่ 6 แม้โจทก์จะเป็นเพียงผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินกับจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ฎีกา แต่โจทก์ก็อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในนามของตนเองตามมาตรา 233 บังคับจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้จ่ายเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามกฎหมาย หน้าที่และความรับผิดชอบในการจ่ายเงินค่าทดแทนของจำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงยังไม่ระงับสิ้นไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

การยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่อทางราชการมิใช่แบบของนิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์จึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบให้เห็นว่าเป็นตัวแทนกันได้ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 อาคารที่ถูกเวนคืนตั้งอยู่บนที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นที่ยินยอมให้อาคารนั้นตั้งอยู่ อาคารดังกล่าวไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินและไม่มีเอกสารสิทธิตามกฎหมายที่แสดงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของอาคารประกอบกับโจทก์มีหนังสือโต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน จำเลยที่ 5 ซึ่งมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนจึงควรไต่สวนค้นหาความจริงให้รอบด้านว่าผู้ใดเป็นเจ้าของอาคารตามความเป็นจริงหรือมิฉะนั้น จำเลยที่ 5 ควรรอคำวินิจฉัยของศาลตามคำร้องขอของโจทก์ การที่จำเลยที่ 5 ด่วนจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 2 ไป โดยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มิใช่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน จำเลยที่ 5 จึงไม่อาจอ้างได้ว่าจ่ายเงินค่าทดแทนไปโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวแทน เมื่อจำเลยที่ 2 รับเงินค่าทดแทนจากอาคารของจำเลยที่ 1 ถูกทางราชการเวนคืน อันเกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนแล้วไม่ยอมส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 เมื่อจำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 และต้องเสียประโยชน์จากการเพิกเฉยของจำเลยที่ 1 ก็ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนเองแทนจำเลยที่ 1 เพื่อป้องกันสิทธิของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 ได้ ในขณะเดียวกันเมื่อจำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่แท้จริง และจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ทวงถามเอาจากจำเลยที่ 5 และที่ 6 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในนามของตนเองตามมาตรา 233 บังคับจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้จ่ายเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ได้