การชำระค่าจ้าง ไม่ยอมรับชำระหนี้เป็นทรัพย์สินอื่นได้หรือไม่ มีสิทธิปฏิเสธหรือไม่

การชำระค่าจ้าง ไม่ยอมรับชำระหนี้เป็นทรัพย์สินอื่นได้หรือไม่ มีสิทธิปฏิเสธหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8260/2550

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 840,000 บาท เพื่อซื้อที่ดินและอาคาร ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละ 10,800 บาท ทุกวันที่ 24 ของเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 24 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป ตกลงชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 25 ปี นับแต่วันทำสัญญา หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์เรียกต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ทันที จำเลยสัญญาว่าจะทำประกันอัคคีภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยจำนองเป็นประกันหนี้ โดยกำหนดให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์และจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัย หากจำเลยไม่จัดการเอาประกันภัยทรัพย์สินดังกล่าวและโจทก์ได้จัดการเอาประกันอัคคีภัยแทนไป จำเลยยอมให้โจทก์นำค่าเบี้ยประกันภัยรวมกับยอดเงินที่ค้างชำระและคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 51336 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ไว้แก่โจกท์ โดยมีข้อตกลงว่า หากโจทก์บังคับจำนองได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมชำระหนี้ส่วนที่ขาดจนครบภายหลังทำสัญญาจำเลยผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเพียงบางส่วนครั้งสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2542 เป็นเงิน 8,988 บาท เมื่อหักชำระหนี้แล้วจำเลยยังคงค้างชำระเงินต้นจำนวน 834,495.15 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 147,279.14 บาท วันที่ 3 เมษายน 2543 โจทก์ทำสัญญาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองแทนจำเลยไปก่อน โดยชำระค่าเบี้ยประกันภัยไปจำนวน 1,461.62 บาท โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 385,761.87 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,221,718.04 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 834,495.14 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยแก่โจทก์เป็นเงินครั้งละ 1,461.62 บาท ทุก 3 ปี ต่อครั้ง เริ่มชำระตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาด หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยให้การว่า ภายหลังจากทำสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยผ่อนชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์เรื่อยมาเป็นเงินต้นประมาณ 200,000 บาท แต่โจทก์ไม่นำเงินที่จำเลยชำระไปหักเงินต้นคงหักชำระดอกเบี้ยเท่านั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ในปี 2541 โจทก์มีโครงการโอนทรัพย์จำนองชำระหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีภาระหนี้ค้างชำระสูงและไม่สามารถชำรหนี้ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะรับโอนหลักประกันเพื่อหักกลบลบหนี้ไม่เกินอัตราร้อยละ 90 ของมูลค่าหลักประกัน หากมีหนี้ส่วนเกินลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันโอนกรรมสิทธิ์ ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2541 จำเลยยื่นคำร้องต่อโจทก์เพื่อขอโอนทรัพย์จำนองเพื่อชำระหนี้ พนักงานของโจทก์ตรวจสอบหลักประกันของจำเลยแล้วแจ้งว่า มีราคาประเมิน 1,200,000 บาท ซึ่งยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระมีจำนวน 840,500 บาท ดังนั้น อัตราร้อยละ 90 ของราคาประเมินคือ 1,040,000 บาท ซึ่งเกินกว่ายอดหนี้ค้างชำระดังกล่าว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญารับโอนทรัพย์จำนองชำระหนี้ แต่โจทก์เพิกเฉยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 840,501.60 บาท แก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 51336 ตำบลสุรศักดิ์ (ศรีราชา) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,221,718.64 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 834,495.15 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 840,000 บาท เพื่อซื้อที่ดินและอาคาร ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละ 18,000 บาท ทุกวันที่ 24 ของเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 24 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป ตกลงชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 25 ปี นับแต่วันทำสัญญา หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์เรียกต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ทันที จำเลยสัญญาว่าจะทำประกันอัคคีภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองเป็นประกันหนี้โจทก์ โดยกำหนดให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์และจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัย หากจำเลยไม่จัดการเอาประกันภัยทรัพย์สินดังกล่าวและโจทก์ได้จัดการเอาประกันอัคคีภัยแทนไป จำเลยยอมให้โจทก์นำค่าเบี้ยประกันภัยรวมเข้ากับยอดเงินที่ค้างชำระและคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 51336 ตำบลสุรศักดิ์ (ศรีราชา) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ไว้แก่โจทก์ โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมชำระหนี้ส่วนที่ขาดจนครบ รายละเอียดปรากฏตามหนังสือสัญญากู้เงิน หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกัน เอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8 โจทก์ทำสัญญาประกันอัคคีภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนอง โดยจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยไปจำนวน 1,461.62 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.9 จำเลยคงผ่อนชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์เพียงบางส่วน ในปี 2541 โจทก์มีโครงการโอนทรัพย์จำนองชำระหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีภาระหนี้ค้างชำระสูงและไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะโอนหลักประกันเพื่อหักกลบลบหนี้ไม่เกินอัตราร้อยละ 90 ของมูลค่าหลักประกัน หากมีหนี้ส่วนเกินลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันโอนกรรมสิทธิ์ ตามประกาศโฆษณาเอกสารหมาย ล.1 จำเลยจึงยื่นคำร้องต่อโจทก์เพื่อขอโอนทรัพย์จำนองชำระหนี้ วันที่ 31 กรกฎาคม 2541 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2542 เป็นเงิน 8,988 บาท ยังคงค้างชำระต้นเงินอยู่อีก 834,495.15 บาท โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองให้จำเลยทราบแล้ว ตามหนังสือบอกกล่าวและไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเอกสารหมาย จ.13 และ จ.14 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า การที่โจทก์ไม่รับโอนทรัพย์จำนองของจำเลยชำระหนี้ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดหรือไม่ เห็นว่า แผ่นพับตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นเพียงประกาศโฆษณาให้บุคคลทั่วไปได้ทราบว่า โจทก์มีโครงการโอนทรัพย์จำนองชำระหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีภาระหนี้ค้างชำระสูงและไม่สามารถชำระหนี้ต่อไปได้ ให้สามารถปลดภาระหนี้ที่มีอยู่ด้วยวิธีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่จำนองให้โจทก์แทนการชำระหนี้ โดยโจทก์กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขหลายประการซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของโจทก์ก่อน แผ่นพับโฆษณาดังกล่าวยังไม่ชัดเจนแน่นอน จึงมิใช่คำเสนอ แต่เป็นเพียงคำเชื้อเชิญให้ผู้สนใจทำคำเสนอเข้ามาเท่านั้น คำร้องของจำเลยที่แสดงความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ จึงจัดว่าเป็นคำเสนอ เมื่อโจทก์มิได้สนองรับย่อมไม่ก่อให้เกิดสัญญา จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์และหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงต้องชำระเงินให้แก่โจทก์โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ เพราะการชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 208 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยเสนอขอชำระหนี้แก่โจทก์ โดยให้โจทก์รับโอนทรัพย์จำนองแทนการชำระหนี้ด้วยเงิน จึงมิใช่เป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์โดยชอบ โจทก์ย่อมมีเหตุผลที่จะปฏิเสธการรับชำระหนี้ได้ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้จากจำเลย โจทก์จึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 207 จำเลยต้องชำระหนี้ให้โจทก์ตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า หากโจทก์บังคับจำนองได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ยังขาดอยู่ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองหรือไม่ ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 8 ระบุว่า “ถ้าหากมีการบังคับจำนอง และภายหลังจากเอาทรัพย์สินที่จำนองขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าจำนวนหนี้อันผู้จำนองและหรือลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระแก่ผู้รับจำนอง หรือเมื่อผู้รับจำนองเอาทรัพย์สินที่จำนองหลุดเป็นสิทธิ และราคาทรัพย์สินที่จำนองยังต่ำกว่าหนี้อันผู้จำนองและหรือลูกหนี้จะต้องชำระเป็นจำนวนเงินเท่าใด ผู้จำนองยินยอมรับใช้เงินจำนวนที่ขาดนั้นจนครบ” เห็นว่า ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้รับจำนองและจำเลยผู้จำนองตกลงกันเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 บัญญัติไว้ ซึ่งบทบัญญัติตามมาตรา 733 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นบทบัญญัติสันนิษฐานถึงเจตนาของคู่กรณีโดยเฉพาะ และมิได้เกี่ยวกับศีลธรรมตามที่นิยมกันในหมู่ชนทั่วไปหรือธรรมเนียมประเพณีของสังคมแต่อย่างใด จึงไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์อาจตกลงกับจำเลยเป็นประการอื่นพิเศษ นอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ก็ย่อมกระทำได้ ดังนั้น ในกรณีที่โจทก์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอใช้เงิน โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะยึดทรัพย์อื่นของจำเลยในฐานะผู้จำนองเป็นประกันมาใช้หนี้จนครบ”

พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 51336 ตำบลสุรศักดิ์ (ศรีราชา) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยจนครบ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

สรุป

จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์ซึ่งเป็นหนี้เงินจำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ เพราะการชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยเสนอชำระหนี้โดยให้โจทก์รับโอนทรัพย์จำนองแทนการชำระหนี้ด้วยเงิน จึงมิใช่เป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ โจทก์ย่อมมีเหตุผลที่จะปฏิเสธการรับชำระหนี้ได้โจทก์จึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207

มาตรา 733 แห่ง ป.พ.พ. เป็นบทบัญญัติสันนิษฐานถึงเจตนาของคู่กรณีโดยเฉพาะ และมิได้เกี่ยวกับศีลธรรมตามที่นิยมกันในหมู่ชนทั่วไปหรือธรรมเนียมประเพณีของสังคม จึงไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์อาจตกลงกับจำเลยเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ได้