กรณีผู้ว่าจ้างไม่ชำระค่าจ้าง แล้วผู้รับจ้างทิ้งงานไป ถือมีความผิดหรือไม่ ?

กรณีผู้ว่าจ้างไม่ชำระค่าจ้าง แล้วผู้รับจ้างทิ้งงานไป ถือมีความผิดหรือไม่ ?

บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้ คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๕๘๗  อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

มาตรา ๓๘๖  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยการแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง แสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่

มาตรา ๓๙๑  เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น

การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่

 

สัญญาว่าจ้างทำของนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นสาระสำคัญของสัญญาจ้างทำของ

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษา ดังต่อไปนี้ คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๐๕/๒๕๕๒

โจทก์และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารคลับเฮาส์โดยโจทก์เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2542 เรื่อยมาจนถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2542 จำเลยที่ 2 ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแปลนใหม่ผิดไปจากเดิมหลายประการ ซึ่งมีทั้งการเพิ่มเหล็กเพิ่มคอนกรีตและต้องทุบงานที่ก่อสร้างไปแล้วบางส่วนทิ้งเพื่อทำตามแบบที่แก้ไข ทำให้โจทก์ต้องเสียเวลา เนื่องจากขณะนั้นลงมือก่อสร้างไปแล้วเกือบเดือน ทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่จำเลยที่ 2 ก็บอกให้โจทก์ทำการก่อสร้างต่อไป ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า การก่อสร้างจะต้องล่าช้าออกไปจนไม่สามารถทำให้เสร็จได้ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 ตามกำหนดเวลาเดิมอย่างแน่นอน ตามพฤติการณ์จึงถือได้ว่า คู่กรณีเจตนาให้มีการเปลี่ยนแปลงในข้อสาระสำคัญแห่งสัญญาโดยมิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป การทำงานล่าช้ากว่ากำหนดจึงมิใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่อาจบอกเลิกสัญญา โดยอ้างว่าโจทก์ทำงานล่าช้ากว่ากำหนด เว้นแต่จะได้บอกกล่าวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาเสียก่อน หากโจทก็ไม่ปฏิบัติตามสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โจทก็ได้เสนอราคางานที่เพิ่มเติมต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2542 และแจ้งจำเลยที่ 2 ถึงการขาดสภาพคล่องทางการเงินอันเนื่องมาจากการแก้ไขเพิ่มเติมแบบซึ่งโจทก์ต้องแบกภาระคำใช้จ่ายในส่วนนี้ไปก่อน ขอให้จำเลยที่ 2 หาทางช่วยเหลือโดยจัดสรรเงินให้เพื่อเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542 เมื่อจำเลยที่ 2 รับเอกสารดังกล่าวแล้วบอกว่าจะจัดการให้ภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 แต่ในที่สุดจำเลยที่ 2 ก็ไม่ชำระ การทิ้งงานของโจทก์ถึงเกิดขึ้นเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าก่อสร้างส่วนที่เพิ่มขึ้นตามแบบแปลนใหม่ ทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่ฝ่ายเดียว ต้องรับผิดในค่าเสียหายของโจทก็ในส่วนของงานที่เพิ่มเติมและอื่น ๆ

 

 

ดังนั้นพอสรุปได้ว่า ผู้ว่าจ้างไม่ชำระค่าจ้าง แล้วผู้รับจ้างทิ้งงานไป ไม่มีความผิด